Abstract:
ความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์กับสหรัฐฯ มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น และต่อเนื่องจนถึงยุคหลังสงครามเย็น อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีงานชิ้นใดที่ศึกษาชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่แนบแน่นขึ้นยุคหลังสงครามเย็นสัมพันธ์กับทัศนะเรื่องภัยคุกคามของสิงคโปร์อย่างไร และลักษณะของความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างทั้งสองประเทศในยุคหลังสงครามเย็นเป็นอย่างไร ดังนั้นวิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษามโนทัศน์เรื่องภัยคุกคามในยุคหลังสงครามเย็น ตามทัศนะของรัฐบาลสิงคโปร์ภายใต้การนำของพรรคกิจประชา และความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างสิงคโปร์กับสหรัฐฯ รวมทั้งวิธีการรับมือเรื่องภัยคุกคามในยุคหลังสงครามเย็นของสิงคโปร์ โดยประยุกต์ใช้แนวคิดของเรื่อง Threat Perception ของ Raymond Cohen มาอธิบาย เพื่อเสนอให้เห็นว่า ในยุคหลังสงครามเย็น แม้สิงคโปร์จะพัฒนาการป้องกันประเทศและมีความมั่นคงมากขึ้นในทุกด้าน แต่จุดอ่อนไหวเรื่องขนาดทางกายภาพ ที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และอัตลักษณ์ความเป็นจีน ยังคงเป็นสิ่งที่สิงคโปร์ตระหนักถึงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องเชื้อชาติ ดังนั้น สิงคโปร์จึงร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ แนบแน่นขึ้นเนื่องจากทั้งสองประเทศมีความกังวลร่วมกันเรื่องภัยคุกคามจากการก่อการร้ายและความมั่นคงด้านทางทะเล นอกจากนี้ ความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ ยังตอบสนองนโยบายการป้องกันเบ็ดเสร็จ (Total Defence) ของสิงคโปร์ได้ดีในเรื่องอธิปไตยของชาติ เทคโนโลยีการทหารขั้นสูงและการขาดแคลนทรัพยากรบุคคล