Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนโยบายต่างประเทศสหรัฐต่อไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ในความสัมพันธ์สหรัฐ-ไทย เพื่อค้นหาปัจจัยที่มีผลในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐต่อไทยก่อนการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ โดยใช้กรอบการวิเคราะห์ three level of analysis ของ Joseph Nye ซึ่งประกอบไปด้วยเหตุปัจจัยระดับฉับพลัน (precipitating causes) เหตุปัจจัยระดับกลาง (intermediate causes) และเหตุปัจจัยระดับลึก (deep causes) โดยเชื่อมโยงเข้ากับมิติ 3 ระดับของ Kenneth Waltz ดังนี้ มิติระบบ (systemic level) มิติภายในประเทศ (domestic level) และมิติความเป็นปัจเจกบุคคล (individual level) เพื่อตอบคำถามงานวิจัยที่ว่า อะไรคือปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐต่อไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการค้นคว้าผู้วิจัยพบว่า ในมิติระดับบุคคลเป็นเหตุปัจจัยระดับฉับพลัน อันประกอบไปด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองและภาวะผู้นำของประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt และการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำทหารญี่ปุ่น โดยในมิติระดับรัฐเป็นเหตุปัจจัยระดับกลาง กล่าวคือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ (Great Depression) และสุดท้ายมิติระดับระบบระหว่างประเทศเป็นเหตุปัจจัยระดับลึก กล่าวคือ ลัทธิจักรวรรดินิยม และกล่าวโดยสรุปได้ว่าสิ่งที่เป็นประเด็นร่วมของเหตุปัจจัยทั้ง 3 มิติ คือ ความพยายามของสหรัฐในการเข้ามาเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก