Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงปรากฏการณ์การเคลื่อนย้ายของชาวจีนอพยพระลอกใหม่ในประเทศไทย รวมถึงการจัดการของรัฐไทยต่อการเคลื่อนย้ายเข้ามาของชาวจีนอพยพระลอกใหม่ และเหตุปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินการของรัฐไทยต่อชาวจีนระลอกใหม่ในพื้นที่ อำเภอแม่สาย เชียงแสน และเชียงของในจังหวัดเชียงราย โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ผ่านการศึกษาวิเคราะห์เอกสาร และรวมรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จากนั้นจึงวิเคราะห์ผ่านกรอบแนวคิดการพึ่งพาซึ่งกันและกันอย่างซับซ้อน (Complex Interdependence) ของ Robert Keohane และ Joseph Nye ผลการวิจัยพบว่า นับตั้งแต่ปี 2000 ที่ประเทศจีนมีนโยบายก้าวออกไป (Going Global) ส่งผลเป็นปัจจัยเร่งให้คลื่นการอพยพระลอกที่ 4 ของชาวจีน หรือชาวจีนอพยพระลอกใหม่ (New Chinese Migration) ซึ่งเริ่มปรากฏในช่วงที่จีนเริ่มเปิดประเทศได้เพิ่มทวีจำนวนมากขึ้น ชาวจีนอพยพระลอกใหม่ได้ไหลเลื่อนออกไปทั่วโลก รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทยด้วย ชาวจีนอพยพระลอกใหม่ที่ไหลเลื่อนเข้ามาในประเทศไทยโดยมากจะเป็นนักธุรกิจ และผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่จนถึงรายย่อย ในพื้นที่อำเภอแม่สาย เชียงแสน และเชียงของในจังหวัดเชียงรายที่เป็นเสมือนประตูหน้าด่านชายแดนที่ใกล้ชิดกับจีน พบว่ามีชาวจีนอพยพระลอกใหม่เคลื่อนย้ายเข้ามาประกอบธุรกิจหลากหลาย เช่น เช่าแผงค้าเพื่อขายสินค้าจากจีน เป็นผู้ประกอบการโลจิสติกส์ นำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างไทย-จีน ธุรกิจด้านการเกษตรโดยตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) เพื่อรับซื้อผลไม้ไทยไปขายในจีน รวมถึงทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวโดยเป็นผู้ประกอบการนำเที่ยวและเป็นมัคคุเทศก์เถื่อน ในส่วนของการจัดการของภาครัฐ ไม่ได้มีท่าที่สนับสนุนชาวจีนอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้มีท่าทีต่อต้านชาวจีนอพยพระลอกใหม่ โดยภาคส่วนราชการจะให้อิสระแก่การดำเนินธุรกิจของชาวจีน และในส่วนที่เป็นปัญหา เช่น ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เถื่อน หรือโรงคัดบรรจุผลไม้ของชาวจีนที่ส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจไทยก็จะดำเนินการสอดส่องดูแลเป็นกรณีไป โดยไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดรุนแรง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้รัฐดำเนินการต่อชาวจีนเช่นนี้ เนื่องจากการพึ่งพาซึ่งกันระหว่างไทยกับจีนเป็นไปอย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงกรอบความร่วมมือและพัฒนาระหว่างประเทศ เช่น GMS ASEAN-China FTA และ Thai-China FTA ในลักษณะที่ไทยพึ่งพาซึ่งกันและกันต่อจีนมากกว่า รวมถึงการที่ชาวจีนอพยพระลอกใหม่เป็นเสมือนตัวกลาง (Middleman) ที่เชื่อมต่อไทยและจีนทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่อำนวยให้การไหลเวียนของทุนและสินค้าระหว่างกันเป็นไปได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับชาวจีนโพ้นทะเลในอดีตแล้วพบว่ามีความแตกต่างและเหมือนกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจที่ชาวจีนทั้งสองยุคมีความเป็นตัวกลางคล้ายคลึงกัน