Abstract:
การเมืองไทยในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ถือว่าเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอีกครั้งของรัฐไทย แม้ว่ารัฐไทยจะมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองในช่วงทศวรรษที่ 1980 แต่โครงสร้างอำนาจภายในสังคมไทยกลับยังคงไม่เปลี่ยนแปลง วิทยานิพนธ์นี้วิเคราะห์ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบและอธิบายปัจจัยที่ทำให้พลเอกเปรมสามารถอยู่ในอำนาจนานถึงแปดปี โดยใช้มุมมองจากแนวคิดสถาบันนิยมใหม่เชิงประวัติศาสตร์เป็นหลัก เสริมด้วยแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคม และแนวคิดโครงสร้างนิยม จากการศึกษาพบว่าการบริหารจัดการทางการเมืองของพลเอกเปรมภายใต้โครงสร้างอำนาจที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบนั้น มีโครงสร้างอำนาจในลักษณะกึ่งเผด็จการที่ผนึกกำลังกันภายในระหว่างกลุ่มราชการโดยทหารและเทคโนแครตกับกลุ่มนอกราชการโดยนักการเมืองและนักธุรกิจกลายเป็นรัฐราชการที่เปิดมากขึ้น โดยพลเอกเปรมไม่ได้พยายามอย่างจริงจังที่จะพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่มุ่งสร้างอำนาจทางการเมืองที่เข้มแข็งจากฐานสนับสนุนโดยกลไกระบบราชการและการส่งเสริมค่านิยมศักดินาราชูปถัมภ์ให้ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในสังคมไทย ซึ่งพลเอกเปรมสามารถบริหารจัดการกลุ่มพลังทางการเมืองเพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพ และได้เพิ่มขีดความสามารถของรัฐในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ด้วยการปรับและเพิ่มบทบาทเชิงสถาบันของตัวแสดง (กองทัพ เทคโนแครต นักการเมือง และนักธุรกิจ) และใช้การถ่วงดุลคานอำนาจทั้งในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม อีกทั้งรัฐบาลยังได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงทำให้พลเอกเปรมสามารถรักษาความมั่นคงในอำนาจการเป็นนายกรัฐมนตรีในระบบรัฐสภาที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย