Abstract:
การศึกษานี้จะเป็นการศึกษาปัจจัยทางด้านสังคมและเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจเสียภาษี และการกำหนดปริมาณการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้ที่มีเงินได้ โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน (Household Socio-Economic Survey) ปี พ.ศ. 2554 โดยเลือกใช้แบบจำลอง logit model ในการศึกษาลักษณะของผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและ ใช้แบบจำลอง Tobit model ในการศึกษาปัจจัยที่กำหนดปริมาณการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะแบ่งกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษาออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มของผู้ที่มีรายได้ทั่วประเทศหรือประชากรวัยแรงงาน, กลุ่มประชากรชนชั้นกลาง และกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงสุด 10% แรก จากผลการศึกษาพบว่าปัจจัยทางด้านสังคมที่ส่งผลต่อความน่าจะเป็นในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและปริมาณการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ปัจจัยทางด้านภูมิภาค คือเมื่อผู้ที่มีรายได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพจะมีความน่าจะเป็นและการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ปัจจัยทางด้านอายุ ระดับการศึกษาที่มากขึ้น จะส่งผลให้มีความน่าจะเป็นในการเสียภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น และปริมาณการเสียภาษีเงินได้ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ปัจจัยทางด้านเพศ โดยพบว่า หากผู้ที่มีรายได้เป็นเพศชาย และสมรสแล้วก็จะมีความน่าจะเป็นในการเสียภาษีมากกว่ากรณีอื่นๆ ด้วยวัยแรงงานส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และเพศชายมักมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าเพศหญิง การสมรสทำให้มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน การกระตือรือร้นในการทำงาน นำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยทางด้านอาชีพพบว่า หากผู้ที่มีรายได้ประกอบอาชีพลูกจ้างรัฐบาล จะมีความน่าจะเป็นในการเสียภาษีมากกว่าอาชีพอื่นๆ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจจะพบว่า เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลให้มีความน่าจะเป็นในการเสียภาษีเพิ่มขึ้น และปริมาณการเสียภาษีเพิ่มขึ้นด้วย ตามโครงสร้างอัตราภาษีแบบก้าวหน้า ในส่วนของค่าลดหย่อนต่าง จะพบว่า จำนวนบุตรที่เพิ่มขึ้น การมีผู้สูงอายุในครอบครัว และการมีคนพิการในครอบครัวจะทำให้ปริมาณการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลง ในขณะที่ค่าลดหย่อนในส่วนการซื้อประกัน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสำหรับที่อยู่อาศัย จะพบว่า แม้จะมีค่าลดหย่อนเหล่านี้ แต่ยังต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ค่าลดหย่อนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี