Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้เป็นการศึกษาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ โดยศึกษาบทบาทของคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาขาพรรค ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเครือข่ายหัวคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเปรียบเทียบระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับจังหวัดขอนแก่น การศึกษานี้ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีการวิจัยเอกสาร การทำวิจัยภาคสนามด้วยวิธีสัมภาษณ์และการจัดทำการสนทนากลุ่ม ผลการศึกษา พบว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นั้นถูกจัดตั้งภายหลังความพ่ายแพ้ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยมีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การสร้างฐานคะแนนเสียง การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและภาคประชาสังคม การประสานความร่วมมือ และการระดมความคิดเห็นจากตัวแทน ซึ่งบทบาทดังกล่าวยังไม่ส่งผลต่อคะแนนเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่จะเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การลงสนามเลือกตั้งครั้งต่อไป ในส่วนของสาขาพรรคซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนรูปแบบเดิมยังคงเน้นการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง การรักษาฐานคะแนนเสียง และการคัดผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในขณะที่หน้าที่หลักเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งคือ การสร้างความผูกพันระหว่างพรรคและผู้แทนนั้นมีความสัมพันธ์ในมิติการเลือกสรรเครือข่ายเพื่อระดมความสนับสนุน การเปิดเวทีสาธารณะ การแลกเปลี่ยนนโยบายและเชิงทรัพยากร ทั้งนี้จังหวัดขอนแก่นไม่มีกลุ่มการเมืองที่มั่นคงและไม่ได้รับเลือกตั้งต่อเนื่อง จึงไม่สามารถสร้างความผูกพันกับผู้แทนในพื้นที่ได้ แต่อีกด้านหนึ่งนั้น ความสำเร็จในจังหวัดอุบลราชธานี มาจากปัจจัยจากตัวบุคคลซึ่งเป็นกลุ่มตระกูลการเมืองที่ได้รับการยอมรับนับถือ ได้รับการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ความผูกพันเชิงอุปถัมภ์ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2540 และ 2550 ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถปรับตัวเชิงนโยบายได้ ยังให้ความสำคัญกับนโยบายแบบดั้งเดิม ในขณะที่พรรคการเมืองคู่แข่งนั้นจะเน้นนโยบายประชานิยมเห็นผลเร็วชัดเจน ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์อาศัยปัจจัยตัวบุคคลมุ่งเน้นรักษาฐานคะแนนเสียงในพื้นที่ให้มั่นคง ประกอบกับความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2554 ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างฐานคะแนนเสียงของพรรคการเมืองคู่แข่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อพรรคประชาธิปัตย์ทั้งในด้านการลงพื้นที่และการขยายฐานเสียงเพิ่มโดยเฉพาะฤดูกาลเลือกตั้ง