Abstract:
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้คือการพิจารณาความแตกต่างของอัตรามรณะในแต่ละรุ่นเกิด ขั้นตอนการศึกษาคือการเลือกตัวแบบอัตรามรณะที่เหมาะสมที่สุดกับอัตรามรณะไทย จาก 5 ตัวแบบ คือ ตัวแบบของลี คาร์เตอร์(Lee-Carter model : LC) ตัวแบบของเรนชอร์และฮาร์เบอแมนเรนชอ (Renshaw and Haberman model: RH) ตัวแบบอายุ-เวลา-รุ่นประชากร (Age-Period-Cohort model: APC) ตัวแบบของเครน เบรค ดอว์ (Cairns-Blake-Dowd model : CBD) และตัวแบบของเครน เบรค ดอว์ แบบพิจารณาผลกระทบรุ่น (Generalized Cairns-Blake-Dowd model: GCBD) ข้อมูลที่ใช้ศึกษาคือข้อมูลจำนวนประชากรและจำนวนการตาย แยกอายุ แยกเพศ ของปี พ.ศ. 2506-2557 เกณฑ์ที่ใช้ในการเลือกตัวแบบคือค่าเฉลี่ยร้อยละความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์(Mean Absolute percentage error :MAPE) และค่าเกณฑ์สารสนเทศของเบย์(Bayes Information Criterion :BIC) หลังจากเลือกตัวแบบอัตรามรณะที่เหมาะสมแล้ว งานวิจัยนี้ได้หาตัวแบบอริมา(Autoregressive integrated moving average: ARIMA) ที่เหมาะสมสำหรับค่าประมาณพารามิเตอร์ของตัวแบบอัตรามรณะที่เลือกได้ และพยากรณ์อัตรามรณะไปข้างหน้า 70 ปี หลังจากนั้นค่าพยากรณ์ของอัตรามรณะของรุ่นเกิดที่แตกต่างกันได้ถูกใช้ในการคำนวณมูลค่าเบี้ยประกันภัยของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบเงินรายปีตัวอย่าง และเปรียบเทียบมูลค่าของเบี้ยประกันภัยเพื่อสรุปผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของอัตรามรณะในแต่ละรุ่นเกิดที่มีต่อมูลค่าของเบี้ยประกันภัย ผลการศึกษาพบว่า ตัวแบบ RH เป็นตัวแบบที่ประมาณค่าอัตรามรณะของไทยได้ดี ค่าอัตรามรณะที่พยากรณ์จากตัวแบบ RH แสดงให้เห็นว่า อัตรามรณะมีแนวโน้มลดลงในแต่ละรุ่นเกิด โดยอัตรามรณะของเพศหญิงมีแนวโน้มลดลงเร็วกว่าของเพศชาย อัตรามรณะตามรุ่นเกิดลดลงช้ากว่าอัตรามรณะตามปีปฏิทิน และมูลค่าของเบี้ยประกันภัยที่คำนวณจากอัตรามรณะของคนที่เกิดรุ่นหลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการลดลงของอัตรามรณะในแต่ละรุ่น