Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ โดยมุ่งความสนใจที่การเคลื่อนย้ายแรงงานจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ประกอบด้วยการเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (South-South) และระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว (South-North) ซึ่งในที่นี้กำหนดให้กลุ่ม South คือประเทศกำลังพัฒนา และกลุ่ม North คือประเทศพัฒนาแล้ว โดยใช้แบบจำลอง Augmented gravity ในการประมาณค่าเพื่อประเมินผลกระทบดังกล่าวจากข้อมูลประเทศต้นทางของผู้ย้ายถิ่น 110 ประเทศ และประเทศปลายทางของผู้ย้ายถิ่น 122 ประเทศ ในช่วงปี 2005-2010 ด้วยวิธี Poisson pseudo-maximum likelihood (PPML) ผลการศึกษาพบว่าการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศจากประเทศปลายทางไปยังประเทศต้นทางของผู้ย้ายถิ่นไม่มีผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศในทิศทาง South-South และ South-North อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรวมของประเทศต้นทางของผู้ย้ายถิ่น พบว่า การลงทุนในลักษณะดังกล่าวมีผลกระทบเชิงลบ (คือ มีผลทดแทนกัน) ต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานในทิศทาง South-South อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ ทิศทาง South-North ไม่มีผลกระทบอย่างนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ การศึกษายังได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบของปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่มีต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศในทั้ง 2 ทิศทางข้างต้น เพื่ออธิบายถึงรูปแบบการเคลื่อนย้ายแรงงานจากกลุ่ม South ซึ่งพบว่า ทิศทาง South-South และ South-North ถูกกำหนดด้วยปัจจัยร่วม ได้แก่ ระดับรายได้ต่อหัวของประเทศปลายทาง ระดับประชากรของประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง การมีพรมแดนติดกัน และการเป็นอาณานิคมร่วมกันในอดีต อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายของแรงงานในทิศทาง South-South และ South-North ยังถูกกำหนดด้วยปัจจัยต่าง ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพและแรงจูงใจในการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศกลุ่ม South ที่แตกต่างกันตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศปลายทาง