Abstract:
การผสมผสานการใช้เสียงสังเคราะห์จากเครื่องดนตรีอิเล็กโทนรุ่นสเตเจียกับเสียงจากวงซิมโฟนีออร์เคสตราเพื่อรังสรรค์ผลงานดนตรีที่สะท้อนตำนานเก่าแก่ของวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ถือเป็นการสร้างงานต้นแบบทางดนตรีที่มีรูปแบบนวัตกรรมใหม่และเป็นงานสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการที่นำเสนอรูปแบบการผสมสีสันเสียงดนตรีแบบ อิเล็กโทรอะคูสติกและ อะคูสติกสู่วงการวิชาการระดับชาติและนานาชาติ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาสนับสนุนงานสร้างสรรค์ดนตรี ถือว่ามีประโยชน์ต่องานประพันธ์ดนตรีของนักประพันธ์ในอนาคต การจำลองผลงานในจินตภาพผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สามารถช่วยให้ผู้ประพันธ์สามารถฟังผลงานการสร้างสรรค์โดยองค์รวมเพื่อวิเคราะห์พัฒนารวมถึงการแก้ไขปัญหาในแต่ละขั้นตอนของการประพันธ์ได้ง่ายขึ้น หากเปรียบเทียบกับการเขียนโน้ตจากดนตรีในแบบดั้งเดิม ผู้วิจัยได้สร้างสรรค์บทเพลง ดุษฎีนิพนธ์งานประพันธ์เพลง: เกตุเมือง วัดเจดีย์หลวง สำหรับเดี่ยวสเตเจียและวงซิมโฟนีออร์เคสตราแบ่งออกเป็น 5 องก์ที่มีลักษณะการใช้สีสันเสียงต่างกันตามลักษณะการบรรเลง โดยเริ่มต้นการประพันธ์จากการสร้างแผนที่ความคิด จำลองดนตรีจากจินตภาพผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เขียนโน้ตเพลงแต่ละองก์ และออกแบบการแสดง ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำงาน นอกจากจะสามารถลดข้อผิดพลาดในการประพันธ์แล้ว ยังช่วยให้นักประพันธ์สามารถพัฒนาศักยภาพในการคิดต่อยอดได้อย่างมีขั้นตอน สามารถตรวจสอบความถูกต้องและฟังผลงานจากจินตภาพได้ตลอดระยะเวลาที่สร้างงาน อย่างไรก็ตาม การถ่ายทอดผลงานจากการบรรเลงบทเพลงด้วยอารมณ์บทเพลงที่เต็มเปี่ยม ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะสร้างสรรค์งานดนตรีที่ไพเราะงดงาม ยิ่งไปกว่านั้นการสร้างงานประพันธ์ที่เกี่ยวกับเรื่องราวตำนานพื้นบ้านล้านนา ยังถือเป็นการ อนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นความภูมิใจของชาวเชียงใหม่ และผู้วิจัยคาดหวังที่จะให้งานวิจัยนี้จะได้มีการนำไปศึกษาพัฒนาต่อยอดได้ในอนาคต