Abstract:
งานวิจัยนี้ประยุกต์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการวิเคราะห์การกระจายทางพื้นที่ของโรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ พ.ศ. 2553-2556 โดยศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่เพื่อทำนายค่าอัตราป่วยต่อพื้นที่ พ.ศ. 2557 และกำหนดพื้นที่เสี่ยงต่อโรคไข้หวัดใหญ่ ผลการวิเคราะห์พบว่ารูปแบบการกระจายของโรคไข้หวัดใหญ่เป็นไปในลักษณะการเกาะกลุ่มทางพื้นที่และมีการเคลื่อนที่ไปบนพื้นที่ บริเวณที่พบอุบัติการณ์การเกิดโรคไข้หวัดใหญ่หนาแน่นสูง (hotspot) คือพื้นที่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและบริเวณที่พบการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่เบาบาง (coldspot) คือพื้นที่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับการศึกษาความสัมพันธ์ในภาพรวมกับปัจจัยด้านภูมิอากาศ ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมรวมถึงมลพิษทางอากาศด้วยการวิเคราะห์ค่าสหสัมพันธ์แบบเพียร์สันพบว่าปัจจัยอุณหภูมิและปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมมีความสัมพันธ์ในระดับต่ำกับอัตราป่วยและเมื่อวิเคราะห์ด้วยสถิติแบบ local โดยใช้การถดถอยถ่วงน้ำหนักเชิงพื้นที่พบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคและสามารถใช้ในการทำนายการเกิดโรคคือ ความหนาแน่นประชากรและจำนวนโรงพยาบาลสามารถอธิบายความแปรปรวนของการเกิดโรคได้ตั้งแต่ร้อยละ 0.4 ถึง 77 และความหนาแน่นประชากร จำนวนโรงพยาบาลและปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสามารถอธิบายความแปรปรวนของการเกิดโรคได้ตั้งแต่ร้อยละ 0.5 ถึง 75