Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) วิเคราะห์ระบบอักขระแทนเสียงสระในจารึกสุโขทัย (2) เปรียบเทียบความต่างที่มีนัยสำคัญ (contrast) ระหว่างหน่วยอักขระในจารึกสุโขทัยกับหน่วยเสียงสระในภาษาไทตะวันตกเฉียงใต้ดั้งเดิมและกับหน่วยเสียงในภาษาผู้ให้คำยืมในภาษาไทยสมัยสุโขทัย และ (3) วิเคราะห์ความต่างที่มีนัยสำคัญด้านความสั้นยาวของสระในภาษาไทยสมัยสุโขทัยจากระบบอักขระในจารึกภาษาไทยสมัยสุโขทัย ผลการศึกษาพบว่าหน่วยอักขระแทนเสียงสระในจารึกสุโขทัยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือหน่วยอักขระที่แสดงความต่างที่มีนัยสำคัญด้านความสั้นยาว ได้แก่ หน่วยอักขระแทนเสียงสระ (i) และ (ɯ) หน่วยอักขระแทนเสียงสระ (u) หน่วยอักขระแทนเสียงสระ (o) และ (ɔ) และหน่วยอักขระแทนเสียงสระ (a) หน่วยอักขระที่ไม่แสดงความต่างที่มีนัยสำคัญด้านความสั้นยาว ได้แก่ หน่วยอักขระแทนเสียงสระ (e) และ (ɛ) หน่วยอักขระแทนเสียงสระ (ɤ) และหน่วยอักขระแทนเสียงสระประสม คือ (iə) (ɯə) และ (uə) เมื่อเปรียบเทียบความต่างที่มีนัยสำคัญของหน่วยอักขระในจารึกสุโขทัยกับหน่วยเสียงสระในภาษาไทตะวันตกเฉียงใต้ดั้งเดิมและกับในภาษาผู้ให้คำยืมในภาษาไทยสมัยสุโขทัย พบว่าแม้หน่วยอักขระแทนเสียงสระส่วนใหญ่จะมีความต่างด้านความสั้นยาวสอดคล้องกับภาษาไทตะวันตกเฉียงใต้ดั้งเดิม แต่ก็มีหน่วยอักขระที่มีความต่างด้านความสั้นยาวแตกต่างจากความต่างที่มีนัยสำคัญในภาษาไทตะวันตกเฉียงใต้ดั้งเดิม คือ หน่วยอักขระแทนเสียงสระ (o) และ (ɔ) มีความต่างด้านความสั้นยาว แต่หน่วยเสียง *o และ *ɔː ในภาษาไทตะวันตกเฉียงใต้ดั้งเดิมไม่มีความต่างที่มีนัยสำคัญด้านความสั้นยาว ความไม่สอดคล้องกันนี้น่าจะเกิดขึ้นจากการที่ภาษาไทยสมัยสุโขทัยมีคำยืมจากภาษาเขมรสมัยพระนครเป็นจำนวนมาก หลังจากวิเคราะห์หน่วยอักขระประกอบกับปฏิภาคของหน่วยอักขระกับหน่วยเสียงดั้งเดิม พบว่ามีหน่วยเสียงสระภาษาไทยสมัยสุโขทัย 2 กลุ่ม คือหน่วยเสียงสระที่มีความต่างที่มีนัยสำคัญด้านความสั้นยาว ได้แก่ หน่วยเสียงสระเดี่ยว /i, iː/ /ɯ, ɯː/ /u, uː/ /e, eː/ /ɤ, ɤː/ /o, oː/ และ /a, aː/ และหน่วยเสียงสระที่ไม่มีความต่างที่มีนัยสำคัญด้านความสั้นยาว ได้แก่ หน่วยเสียงสระเดี่ยว /ɛː/ และ /ɔː/ และหน่วยเสียงสระประสม /iə/ /ɯə/ และ /uə/ กล่าวโดยสรุป ระบบเสียงภาษาไทยสมัยสุโขทัยมีความต่างที่มีนัยสำคัญด้านความสั้นยาวของสระ