Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการของค่านิยมผิวขาวในสังคมไทย จนกระทั่งมีลักษณะเป็นปรากฏการณ์ “ความคลั่งผิวขาว” ในปัจจุบัน รวมทั้งศึกษาพัฒนาการของการครอบงำและสร้างวาทกรรมผิวขาว และศึกษาการผลิตซ้ำวาทกรรมผิวขาวในยุคทุนนิยมปัจจุบัน โดยใช้กรอบวาทกรรมของ มิเชล ฟูโกต์ มาประกอบการวิเคราะห์เชิงพรรณนาและตีความสัมพันธ์-บทบาทของ อำนาจ ความรู้ และความจริง ในการประกอบสร้างวาทกรรมผิวขาวในแต่ละสมัย และส่งผลต่อค่านิยมผิวขาวของปัจเจกบุคคลภายใต้โครงสร้าง โดยใช้วิธีศึกษาจากเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างจำนวน 28 คน โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง จากผลการศึกษา พบว่าค่านิยมผิวขาวของสังคมไทยสามารถแบ่งได้เป็น 3 สมัย สมัยที่หนึ่ง คือผิวสีเนื้อสองสีที่มีความนวลเนียน หรือผิวขาวเหลืองดั่งทอง/ดั่งดวงจันทร์ ซึ่งเป็นผลจากการประกอบสร้างวาทกรรมผ่านงานวรรณกรรมจากชนชั้นสูงและระบบปิตาธิปไตย โดยรับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมของอินเดีย สมัยที่สอง คือผิวขาวเลืองและผิวสีน้ำผึ้ง ที่เริ่มมีกลิ่นไอจากอิทธิพลผิวขาวอมชมพูแบบตะวันตก เมื่อวัฒนธรรมอินเดียถูกกดทับและแทนที่ด้วยวัฒนธรรมตะวันตก สมัยนี้ค่านิยมสีผิวขาวอมชมพูแบบตะวันตกจึงเป็นวาทกรรมใหม่ที่เข้ามาปะทะและกดทับค่านิยมผิวงามแบบอินเดียให้อ่อนแรงลง โดยวาทกรรมผิวขาวในช่วงแรกของสมัยที่สองมาจากชนชั้นสูงและช่วงหลังมาจากภาครัฐหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และสมัยที่สามซึ่งเป็นยุคปัจจุบัน คือผิวสีขาวอมชมพู หรือขาวออร่าแบบเกาหลี เป็นสมัยที่วาทกรรมผิวขาวเกิดจากการผลิตซ้ำร่วมกันระหว่างฝั่งทุนนิยมและปัจเจกบุคคลภายใต้โครงสร้าง วาทกรรมผิวขาวในยุคปัจจุบัน จึงเป็นผลมาจากค่านิยมผิวขาวในประวัติศาสตร์ ผสมผสานกับการพัฒนา และอำนาจของสื่อโฆษณาที่แบ่งแยก-กีดกัน-กดทับ ให้วาทกรรมผิวขาวกลายเป็นเรื่องธรรมชาติ สื่อและสถาบันจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างอคติทางสีผิวให้เข้มข้นมากขึ้น จนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์ความคลั่งในด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งในสังคม ผ่านการทา ดื่ม กิน และฉีดยาเพื่อปรับ/เปลี่ยนสีผิวเดิมจากผิวคล้ำให้กลายเป็นผิวขาว เปรียบเสมือนการอัด-ฉีดยา สลักเรือนร่างเพื่อสร้างอำนาจย้อนแย้งโครงสร้างที่กดทับปัจเจกบุคคล และเสพสุขอำนาจ และทุนทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้กลับมาจากการสร้างทุนทางกายภาพผ่านการทำผิวขาว