Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ความทุกข์ทางใจ และ กระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธในการเยียวยาจิตใจของผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคอง โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วย (1) ผู้ให้ข้อมูลประสบการณ์ความทุกข์ทางใจ คือ ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคอง โรงพยาบาลศิริราช จำนวน 12 ราย (2) ผู้ให้ข้อมูลในกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ คือ ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคอง โรงพยาบาลภูมิพล จำนวน 7 ราย ผู้วิจัยในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษาให้การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธแก่ผู้ป่วย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลตามแนวปรากฏการณ์วิทยา ผลการวิจัยพบว่า ผู้ให้ข้อมูลรายงานถึงประสบการณ์ความทุกข์ 5 ประเด็น ดังนี้ (1) มุมมองต่อโรคมะเร็ง (2) ความทุกข์จากโรคมะเร็ง (3) การจัดการความทุกข์ของผู้ป่วยมะเร็ง (4) ปัจจัยสนับสนุนในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง และ (5) บทเรียนจากโรคมะเร็ง สำหรับผลการวิจัยด้านกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ สามารถสรุปได้ 3 ขั้นตอนดังนี้ (1) ภาวะบีบคั้นทางใจ ประกอบด้วย อาการของใจที่บีบคั้น ความขัดแย้งในใจ ความคาดหวังกับความจริงไม่สอดคล้องกัน การดิ้นรนหลีกหนี (2) การพิจารณาความทุกข์ ประกอบด้วย พิจารณาอาการความทุกข์ทางใจ พิจารณารากสาเหตุของทุกข์ พิจารณาความคาดหวังกับความจริงไม่สอดคล้องกัน และ (3) ใจที่คลี่คลายทุกข์ ประกอบด้วย เห็นถึงที่มาของความทุกข์ ยอมรับสภาพด้วยใจที่นิ่งชั่วขณะ อยู่กับความทุกข์ด้วยใจที่ยอมรับมากขึ้น เห็นทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต