Abstract:
วีดีโออาร์ต: เรื่องเล่าจากลายผ้าชาติพันธุ์ไทยทรงดำ จังหวัดนครปฐม มีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและสร้างสรรค์ผลงานวีดีโออาร์ตที่สื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างลายผ้า ความเชื่อ การนับถือผีบรรพบุรุษและพิธีกรรมหลังความตายซึ่งยังคงมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่และการรักษาอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ ผู้วิจัยใช้วิธีการดำเนินการวิจัยเชิงคุณภาพโดยทำการเก็บข้อมูลภาคสนาม ณ บ้านไผ่หูช้าง ตำบลไผ่หูช้าง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐมเป็นระยะเวลา 36 เดือนทำการสัมภาษณ์หมอพิธี ครูสอนภาษาไทยทรงดำ ผู้เฒ่า ผู้นำชุมชนและสมาชิกของบ้านไผ่หูช้าง รวมทั้งใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ (Participant as Observer) ในพิธีเสนเรือน พิธีป้าดตง พิธีศพ และพิธีเชิญผีขึ้นเรือน และนำข้อมูลการวิเคราะห์เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์วีดีโออาร์ต ทดลองฉายและปรับปรุงทั้งหมด 4 ครั้งโดยผู้ทรงคุณวุฒิและชุมชนชาวไทยทรงดำ จากการศึกษาพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำเชื่อถือเรื่องพญาแถนและการนับถือผีบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด มีความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายจึงประกอบพิธีกรรมหลังความตายโดยใช้ลายผ้าและวัตถุทางวัฒนธรรมที่สร้างขึ้นเพื่อส่งดวงวิญญาณผู้ล่วงลับให้ได้เดินทางกลับสู่เมืองแถนตามความหวัง ลายผ้าและเครื่องเซ่นปรากฏในการจัดพิธีกรรมทุกครั้งด้วยความหมายที่ซับซ้อนและหลากหลายจากการตีความของสมาชิกในชุมชน ผู้วิจัยทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของลายผ้าและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหลังความตายโดยศึกษาการใช้เสื้อฮีที่มีลวดลายดอกแปด วิธีการสวมใส่ในพิธีหลังความตายต้องกลับเสื้อด้านในออกข้างนอกเพื่อแสดงลายดอกแปดอันหมายถึงแถนแปดองค์ที่ปกปักรักษาผู้สวมใส่ รวมทั้งเสื้อต๊ก เสื้อก้อมและการนุ่งส้วง วัตถุทางวัฒนธรรมเชิงสัญลักษณ์ในพิธีกรรมของชาวทรงดำเพื่อเป็นการตีความหมายในการสร้างสรรค์ผลงานวีดีอาร์ต ผู้วิจัยใช้ทฤษฎีจินตภาพเพื่อออกแบบผลงานสร้างสรรค์โดยแบ่งโครงสร้างออกเป็น 3 ส่วนคือ ความกลัว ความหวังและความสุขซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 10 นาทีเพื่อนำเสนอสภาวะของผู้ล่วงลับที่มีความกังวลว่าดวงวิญญาณไม่ได้กลับสู่เมืองแถนและสภาวะทับซ้อนของโลกอดีต ปัจจุบันและอนาคต โดยออกแบบสภาวะเหนือจริงของจิตวิญญาณที่กระตุ้นจินตนาการของผู้ชมให้เข้าถึงการตระหนักรู้เกี่ยวกับการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านพิธีกรรมหลังความตายของชาวไทยทรงดำ