Abstract:
วิทยานิพนธ์ เรื่อง “ละคอนเล็ก: การสร้างสรรค์การแสดง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็ก สำหรับคนรุ่นใหม่” นี้ เป็นการวิจัยเชิงสร้างสรรค์และเชิงคุณภาพ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานการแสดง และค้นหาแนวคิดในการสร้างสรรค์การแสดง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็กสำหรับคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางกระแสอันแปรปรวนของวัฒนธรรมที่หลากหลายจากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งโลกาภิวัฒน์ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและค่านิยมของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน โดยใช้วิธีวิทยาการวิจัยแบบสหสาขาวิชาจากองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็ก ศิลปกรรมศาสตร์ (นาฏยศิลป์ ทัศนศิลป์ ดุริยางค์ศิลป์ ศิลปการละคร และนฤมิตศิลป์) จิตวิทยา สังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ของคนรุ่นใหม่ (Generation Y) รวมถึงแนวคิดวิเคราะห์ทางการตลาดแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารตำรา และสื่อสารสนเทศ การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย การสำรวจข้อมูลภาคสนาม การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม การเข้าร่วมสัมมนา และการใช้เกณฑ์มาตรฐานศิลปิน โดยการเก็บข้อมูลในช่วงเดือนมิถุนายน 2553 ถึงเดือนมิถุนายน 2558 ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จากนั้นจึงนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ เพื่อศึกษารูปแบบและองค์ประกอบในการแสดง และดำเนินการทดลองปฏิบัติการสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนดำเนินการพัฒนา แก้ไขปรับปรุงการแสดง นำเสนอผลงานการสร้างสรรค์สู่สาธารณชน สรุปผล และนำเสนอเป็นผลงานวิจัยตามลำดับ ผลการวิจัยพบว่า ในด้านการสร้างสรรค์การแสดง สามารถจำแนกตามองค์ประกอบการแสดงได้ 8 ประการ คือ 1) บทการแสดง ที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ด้วยเทคนิคการปะติด (Collage) สะท้อนถึงองค์ประกอบที่สำคัญของศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็ก ความเชื่อและ ความคิดของศิลปินหุ่นละครเล็ก และทัศนคติของคนรุ่นใหม่ต่อศิลปะไทย 2) นักแสดง มีความสามารถหลากหลาย ทั้งทางด้านการแสดง การเชิดหุ่นละครเล็ก นาฏยศิลป์ไทย และนาฏยศิลป์ตะวันตกสมัยนิยม แนวสตรีทแด๊นซ์ (Street Dance) รวมถึงการสื่ออารมณ์ และความหมาย 3) ลีลา นำเสนอผ่านรูปแบบนาฏยศิลป์การละคร (Dance-Theatre) ที่ผสมผสานศิลปการละคร นาฏยศิลป์ไทย และนาฏยศิลป์ตะวันตกสมัยนิยมเข้าไว้ด้วยกันอย่างบูรณาการ 4) ดนตรี และเสียงประกอบ ใช้ทั้งเพลงประกอบการแสดงแบบดั้งเดิม และเพลงร่วมสมัยที่ประพันธ์ขึ้นมาใหม่ เน้นเสียงประกอบที่เสริมสร้างบรรยากาศ และสอดคล้องกับการแสดง 5) อุปกรณ์การแสดง สร้างสรรค์ตามแนวคิดสัจนิยม (Realism) และเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic) เพื่อสร้างความสมจริง และสื่อสารการแสดง 6) พื้นที่การแสดง ใช้พื้นที่หลากหลาย ทั้งบนเวทีกลาง เวทีเสริมต่างระดับ บริเวณทางเดิน และที่นั่งของผู้ชม เพื่อสร้างบรรยากาศ และความแปลกใหม่ 7) เครื่องแต่งกาย ออกแบบตามแนวคิดสัจนิยม (Realism) เน้นความสมจริงตามลำดับยุคสมัยภายในเรื่อง แนวคิดเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic) เพื่อสื่อความหมายในเชิงลึก และแนวคิดเซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) โดยใช้เทคนิคการแต่งหน้า และผิวกายพิเศษ ในการสื่อความคิดให้เป็นรูปธรรม 8) แสง และเทคนิคพิเศษ ผสมผสานการจัดแสงแบบนาฏยศิลป์ ที่เน้นลักษณะของการเต้นรำ และการจัดแสงแบบละครเวที เพื่อเล่าเรื่อง และเสริมสร้างบรรยากาศ โดยใช้แนวคิดทฤษฎีของสี และทิศทางของแสง ในการถ่ายทอดอารมณ์ พร้อมเทคนิคพิเศษ เพื่อเสริมสร้างความสวยงาม และความสมจริง ส่วนแนวคิดในการสร้างสรรค์การแสดง เพื่อส่งเสริมความเข้าใจในศิลปะการแสดงหุ่นสำหรับคนรุ่นใหม่ เรื่อง “ละคอนเล็ก” นั้น ได้ให้ความสำคัญใน 8 ประเด็นดังนี้ คือ 1) การคำนึงถึงการสร้างสรรค์การแสดงเพื่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ 2) การอนุรักษ์ ถ่ายทอด และสืบสานศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็ก ในฐานะศิลปะการแสดงประจำชาติ 3) การคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ในการแสดง 4) การใช้ความหลากหลายของรูปแบบการแสดง 5) การใช้ทฤษฎีด้านนาฏยศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ทัศนศิลป์ และศิลปการละคร 6) การคำนึงถึงการสะท้อนสภาพสังคมปัจจุบัน และปัญหาที่เกิดขึ้น 7) การใช้สัญลักษณ์ เพื่อสื่อสารการแสดง และ 8) การคำนึงถึงทฤษฎี และแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Post-Modern) ดังนั้น ผลการวิจัยทั้งหมดนี้ จึงมีความสอดคล้องและตรงตามวัตถุประสงค์ทุกประการ โดยผลงานการสร้างสรรค์การแสดงชิ้นนี้ ได้เป็นตัวอย่างของสื่อที่แสดงถึงการสร้างความเข้าใจ และกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เกิดความภาคภูมิใจในศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็ก มรดกทางวัฒนธรรมของชาติต่อไป