Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการแสดงนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยชุด คอนเทมโพรารี วิชวลลิตี้ ออฟ ไทย ฟิลลอสโซฟี ออฟ ไลฟ์ “Contemporary Visuality of Thai Philosophy of Life” ที่สะท้อนบริบทของสังคมไทย ศึกษาแนวความคิดในการสร้างงานของการแสดงนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยที่สะท้อนบริบทของสังคมไทย ด้วยวิธีการรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ บุคคลที่เกี่ยวข้องในการแสดง เอกสาร ตำราวิชาการ สูจิบัตร ฯลฯ และสรุปวิเคราะห์หาแนวคิด การศึกษาวิเคราะห์การแสดงนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยชุด คอนเทมโพรารี วิชวลลิตี้ ออฟ ไทย ฟิลลอสโซฟี ออฟ ไลฟ์ “Contemporary Visuality of Thai Philosophy of Life” ในครั้งนี้ เพื่อนำผลงานชิ้นนี้มาศึกษาวิเคราะห์เพื่อให้เกิดความลึกซึ้งในด้านการออกแบบ ลีลาในการแสดง จากการวิเคราะห์ผลงานพบว่า กระบวนการ ท่าทาง ได้สื่อสารผ่านเรื่องราว ปรัชญา วิถีชีวิต สังคม ศาสนา วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณี ในลักษณะของความเป็นไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดเรื่องศาสนาพุทธ ซึ่งผลงานชิ้นนี้มีการใช้ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ที่สามารถสื่อถึงลักษณะความเป็นนามธรรมได้หลายอย่าง เช่น เป็นตัวแทนของศาสนา ของพระพุทธศาสนา ความสงบของจิตใจ กิเลสตัณหาของมนุษย์ พฤติกรรมการแย่งชิงกัน เป็นสัญลักษณ์ที่แทนผู้คน อารมณ์ ในเหตุการณ์ต่างๆ และยังมีการใช้ศิลปะการแสดงในการสร้างสรรค์ผลงานทั้งองค์รวม เช่น การใช้ลีลา การจัดวางหรือออกแบบ ท่าทางอากัปกิริยาของนักแสดง ฉาก แสงสี การแต่งกาย เพลงประกอบการแสดง โดยใช้ศิลปะการแสดงสากลที่มีความร่วมสมัยควบคู่กับลีลาที่มีพื้นฐานมาจากนาฏยศิลป์ไทย ทำให้การแสดงชุดนี้มีความกลมกลืน มีการเคลื่อนไหว องค์ประกอบที่มีทั้งช้าและรวดเร็ว เช่น การกระโดดอย่างเบาลอยและการลื่นไหล ทำให้การแสดงมีชีวิตชีวามากขึ้น นอกจากนี้พบว่าการแสดงชุดนี้มีแนวคิดของหลักธรรมพระพุทธศาสนา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีไทย สภาพสังคมไทย ซึ่งอดีตมีจิตใจเอื้ออาทร ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ขณะเดียวกันคนในสังคมก็มีการเอารัดเอาเปรียบและแย่งชิงกัน แสดงออกถึงชีวิตที่สับสน และสุดท้ายผู้คนในสังคมก็ต่างหวนหาคืนวันเก่า ๆ ทำให้ศิลปะการแสดงร่วมสมัยชุดนี้ทรงคุณค่าของสังคมไทยที่แสดงเอกลักษณ์ของชาติออกสู่สายตาของนานาชาติ การวิจัยครั้งนี้ยังพบว่าการสร้างสรรค์งานมีหลักปรัชญาสุนทรียศาสตร์ เรื่องรูปแบบสุนทรียะ ตามหลักวิชาการคือ ศิลปะที่พัฒนาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่อันมีวัฒนธรรมของไทยเป็นรากฐานตลอดจนจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษางานด้านศิลปวัฒนธรรมไทยและนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยต่อไป