Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง นาฏยลักษณ์ของนางยักษ์ในโขนและละครรำ มีวัตถุประสงค์ในการวิจัยเพื่อศึกษาและวิเคราะห์นาฏยลักษณ์ของตัวนางยักษ์ในการแสดงโขนและละครรำ โดยใช้กรณีศึกษาบทบาทนางยักษ์ในโขนและละครรำของกรมศิลปากรที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่อง จำนวน 6 บทบาท ได้แก่ นางสำมนักขา นางอังกาศตไล นางศุภลักษณ์ นางพันธุรัต นางผีเสื้อสมุทร และนางศูรปนขา นางยักษ์เป็นสัญลักษณ์ในการสะท้อนคุณธรรมจริยธรรมทั้งในแง่ดีและไม่ดี รวมทั้งสะท้อนความเชื่อทางพุทธศาสนาและคติความเชื่อในท้องถิ่นของไทยถ่ายทอดออกมาเป็นงานวรรณกรรมและนำไปสู่รูปแบบของการแสดงโขนและละครรำ งานวิจัยฉบับนี้ใช้วิธีดำเนินการวิจัยที่สำคัญ ได้แก่ การค้นคว้าเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์ศิลปินผู้แสดงบทบาทนางยักษ์ การฟังสัมมนา การชมการแสดงสดและวีดีทัศน์ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และเรียบเรียงเป็นวิทยานิพนธ์และเผยแพร่บทความวิจัยลงในวารสารระดับชาติ ผลการวิจัยพบว่า นางยักษ์ คือ อมนุษย์เพศหญิงที่มีชาติกำเนิดมาจากเผ่าพันธุ์ยักษ์ มีทั้งรูปลักษณ์ใหญ่โตอัปลักษณ์ มีเขี้ยวงอกออกจากปาก และนางยักษ์ที่มีรูปลักษณ์สวยงามแบบนางมนุษย์ นางยักษ์ส่วนใหญ่มีฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศได้ มีอาวุธวิเศษ มีความสามารถในการรบ การสืบทอดบทบาทนางยักษ์ของกรมศิลปากรสืบทอดมาจากราชสำนักไทย ส่วนศิลปินนางยักษ์มีทั้งเพศชายและหญิง นางยักษ์มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้สร้างผู้ดำเนินเรื่อง และผู้คลี่คลายปมปัญหาของเรื่อง นาฏยลักษณ์ของนางยักษ์ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักสี่ประการ ได้แก่ 1. รูปแบบการแสดง ได้แก่ประเภทของและจารีตของการแสดงโขนหรือละครรำ 2. ภูมิหลังของตัวละคร ได้แก่ ชนชั้นวรรณะ บุคลิกและลักษณะนิสัย และบทบาทตามท้องเรื่อง 3. ผู้แสดงและการฝึกหัด ได้แก่ เพศของผู้แสดงและการฝึกหัดโดยครูต้นแบบ 4. กระบวนท่ารำและการแสดงออกด้านอารมณ์และพลังของตัวละคร นอกจากนี้ยังพบว่านางยักษ์ในโขนและละครรำมีนาฏยลักษณ์ร่วมกัน ได้แก่ การรำในเพลงหน้าพาทย์ เช่น เพลงกราวใน เพลงตระนิมิต เป็นต้น และนาฏยลักษณ์เฉพาะตัว ได้แก่กระบวนท่ารบและขึ้นลอยและการแสดงออกทางด้านอารมณ์และพลังตามบทบาทนั้นๆ ซึ่งส่งผลให้นาฏยลักษณ์ของนางยักษ์แต่ละตัวมีความงดงามสมจริง