Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาที่มาของงานปูนปั้นรามเกียรติ์ ถนนราชดำเนิน จังหวัดเพชรบุรี และวิเคราะห์พลวัตและบทบาทหน้าที่ของงานปูนปั้นรามเกียรติ์ในฐานะศิลปกรรมร่วมสมัย โดยใช้แนวคิดเรื่องอนุภาคและทฤษฎีบทบาทหน้าที่ทางคติชนวิทยา ข้อมูลที่ศึกษาคืองานปูนปั้นเรื่องรามเกียรติ์ที่สร้างขึ้นในโครงการถนนคนเดินราชดำเนินยามเย็นจำนวน 35 ชิ้น และศิลปกรรมรามเกียรติ์ในอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรีอีก 232 ชิ้น เก็บข้อมูลภาคสนามระหว่างปี 2556-2558 ผลการศึกษาพบว่างานปูนปั้นรามเกียรติ์ที่ถนนราชดำเนิน มีที่มาหรือภาพต้นแบบจาก 4 แหล่ง ได้แก่ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหัวลำโพง หนังสือ เส้นสายลายไทย ชุดภาพจับจากศิลปะไทย ของเศรฐมันตร์ กาญจนกุล และโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 งานปูนปั้นทั้ง 35 ชิ้นนี้สามารถเล่าเรื่องรามเกียรติ์ได้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง โดยใช้การคัดเลือกเหตุการณ์จากเรื่องรามเกียรติ์ที่เป็นที่รู้จัก เช่น การเกี้ยวของหนุมานกับตัวละครหญิงในเรื่อง การทำกลอุบายต่าง ๆ การรบกับระหว่างตัวละครฝ่ายพระรามกับทศกัณฐ์ มาเรียงลำดับ โดยเน้นเหตุการณ์ต่อสู้มากกว่าเหตุการณ์ประเภทอื่น ผลการวิเคราะห์ในด้านบทบาทหน้าที่พบว่า งานชุดนี้มีบทบาทหลายประการ ประการแรกคือบทบาทในด้านการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ตามจุดประสงค์ที่ระบุไว้ในโครงการถนนคนเดิน ราชดำเนินยามเย็น ประการที่สองคือบทบาทในด้านการสืบทอดความรู้เชิงช่างของเพชรบุรี เพราะงานชุดนี้เป็นการรวบรวมฝีมือสกุลช่างปูนปั้นเพชรบุรีมาจัดแสดงผ่านงานศิลปกรรมที่เป็นภาพจับและภาพลอยตัว อีกทั้งยังช่วยขยายพื้นที่ในการเรียนรู้เกี่ยวกับงานปูนปั้นให้ออกมานอกพื้นที่วัด ประการที่สามคือการสืบทอดเรื่องรามเกียรติ์ในฐานะรามเกียรติ์สำนวนใหม่ที่เกิดขึ้นในการสร้างสรรค์งานศิลปะของจังหวัดเพชรบุรี ประการสุดท้าย คือบทบาทในด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องสกุลช่างมาเป็นจุดขาย และยังช่วยทำให้ถนนราชดำเนินกลายเป็น landmark สำคัญของจังหวัดเพชรบุรีอีกด้วย งานวิจัยนี้จึงเป็นการใช้แนวคิดทางคติชนวิทยามาศึกษากลุ่มข้อมูลประเภทงานศิลปะในท้องถิ่น ที่ช่วยรวบรวมข้อมูลศิลปกรรมเรื่องรามเกียรติ์ที่พบในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งสืบทอดมาแต่เดิมจนถึงข้อมูลศิลปกรรมในปี 2558 และเป็นแนวทางหนึ่งในการศึกษากลุ่มข้อมูลศิลปกรรมที่นำวรรณกรรมมาใช้เป็นเนื้อหาในการสร้างสรรค์