Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เปลี่ยนไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยจากสังคมชนบทสู่สังคมเมืองในตัวบทวรรณกรรมของอุทิศ เหมะมูล โดยใช้แนวคิดเรื่องนโยบายการพัฒนา ระบบทุนนิยมและภาวะบริโภคนิยม ผลการศึกษาพบว่า ตัวบทวรรณกรรมของอุทิศ เผยให้เห็นการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมระหว่างพื้นที่ท้องถิ่นกับเมืองก่อให้เกิดการละถิ่นฐานเพื่ออพยพเข้าสู่เมือง ระบบทุนนิยมหล่อหลอมมโนทัศน์เรื่องการสะสมทุนและการสร้างอำนาจต่อรองทางสังคม ทั้งยังสร้างพันธกิจให้ผู้เป็นพ่อดูแลครอบครัวและผลิตสมาชิกออกสู่สังคม นำมาซึ่งการใช้อำนาจปิตาธิปไตย ระบบทุนนิยมยังเปลี่ยนแปลงจารีตที่กำหนดเพศสถานะและเพศวิถี สถานะของเพศหญิงที่ต้องยึดติดอยู่กับพื้นที่ส่วนตัว มีบทบาทเป็นผู้ทำงานในบ้านมีโอกาสทำงานนอกบ้านทัดเทียมกับเพศชาย ส่วนเพศวิถีของชายและหญิงยังถูกจารีตทางสังคมควบคุมให้เป็นความสัมพันธ์แบบชายหญิง ในขณะเดียวกันก็กดทับความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน นอกจากนั้นระบบทุนนิยมทำให้พื้นที่เมืองกลายเป็นศูนย์รวมความเจริญทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีพื้นที่ซ่อนเร้นซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่ชายขอบ ระบบทุนนิยมยังหล่อหลอมมโนทัศน์และวิถีชีวิตแบบปัจเจกบุคคล ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้การบริโภควัตถุเป็นไปอย่างเสรี ระบบทุนนิยมยังก่อให้เกิดการใช้อำนาจปิตาธิปไตยในครอบครัว เพราะพันธกิจของบทบาทพ่อที่ได้รับอิทธิพลจากระบบทุนนิยม แต่ก็ถูกลดทอนลงทุกขณะ อีกทั้งอำนาจปิตาธิปไตยซึ่งเป็นตัวกำหนดเพศสถานะและเพศวิถีให้เป็นชายกับหญิงยังถูกท้าทายและตอบโต้ด้วยการมีเพศวิถีที่นอกเหนือจากบรรทัดฐานของสังคมซึ่งก็คือเพศวิถีระหว่างเพศเดียวกัน