Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาการสร้างภาพลักษณ์และการปรับประยุกต์เรื่องรามเกียรติ์ในการแสดงหุ่นละครเล็กของคณะคำนาย โดยใช้แนวการศึกษาแบบเทียบกับละครและแนวการศึกษาคติชนด้านการสื่อสาร การแสดงในการศึกษาวิเคราะห์ เก็บข้อมูลภาคสนามระหว่างปี 2556 - 2558 ในการสร้างภาพลักษณ์พบว่าคณะคำนายใช้บ้านศิลปิน คลองบางหลวง เป็น "เวที" หรือเป็น "เขตหน้าฉาก" เพื่อแสดงการเชิดหุ่นละครเล็กและเพื่อสอนศิลปะการแสดงโขนและการเชิดหุ่นละครเล็กโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้แก่เยาวชน มีวิธีสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนโดยการไปร่วมแสดงเป็นมหรสพหน้าศพให้แก่ชาวคลองบางหลวงโดยไม่ต้องว่าจ้าง ส่วนใน "เขตหลังฉาก" การแสดงหุ่นละครเล็กคืออาชีพและความอยู่รอดของคณะ การนำเสนอเขตหน้าฉากในลักษณะดังกล่าวทั้งที่ผ่านการแสดงโดยตรงและผ่านสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ช่วยทำให้เกิดการรับรู้ภาพลักษณ์ของคณะคำนายในฐานะเป็นกลุ่มศิลปินที่มีอุดมคติในการสืบทอดและเผยแพร่ศิลปะการเชิดหุ่นละครเล็ก คณะคำนายนำเรื่องรามเกียรติ์จำนวน 5 สำนวนมาปรุงเป็นบทแสดง ได้แก่ 1. บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 2. บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 3. บทมโหรีประสมวงคอนเสิร์ตเรื่องรามเกียรติ์ ตอนนางลอย พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 4. โคลงภาพรามเกียรติ์ รอบระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 5. บทโขนชุดมัยราพณ์สะกดทัพ ของกรมศิลปากร ฉบับปรับปรุงใหม่ และการแสดงเบิกโรงเรื่องเมขลา รามสูร การนำเรื่องรามเกียรติ์ฉบับต่าง ๆ เหล่านี้มาใช้ ทำให้คณะคำนายมีการแสดง 2 รูปแบบ คือ การแสดงขนาดสั้นจำนวน 10 ชุด ซึ่งเน้นแสดงการเกี้ยวนางและการจับนาง และการแสดงขนาดยาวจำนวน 3 ชุด ซึ่งเกิดจากการนำการแสดงขนดสั้นชุดต่าง ๆ มาเรียงร้อยให้เชื่อมโยงกัน บทที่ใช้แสดงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการนำเรื่องราว แนวคิด และตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์มาปรับประยุกต์ใช้ โดยวิธีการปรับรูปแบบคำประพันธ์หรือเนื้อหา การคัดลอกคำประพันธ์บางบท และการแต่งบทขึ้นใหม่ ทำให้เห็นตัวบทเรื่องรามเกียรติ์ฉบับต่าง ๆ ที่ถูกนำมาถ่ายทอดในบริบทใหม่ผ่านศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็ก การสืบทอดศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็กด้วยข้อจำกัดทั้งด้านงบประมาณและจำนวนนักแสดง ทำให้คณะคำนายต้องสร้าง "ภาพลักษณ์" และ "ภาพจำ" ให้แตกต่างไปจากหุ่นละครเล็กคณะอื่นๆ ในสังคมไทยร่วมสมัย จึงต้องปรับองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งตัวหุ่น ผู้เชิด การแต่งกาย ดนตรี และฉาก ในลักษณะที่เป็นการบริการจัดการเพื่อลดข้อจำกัดดังกล่าว การวิจัยในประเด็นนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาการสืบทอดและการดำรงอยู่ของศิลปะการแสดงแขนงต่างๆ ในเชิงคติชนวิทยาได้ต่อไป