Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเข้าชมนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในด้านระยะเวลาในการเข้าชม ลำดับการเข้าชม ความสนใจ รวมถึงความพึงพอใจและประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าชมนิทรรศการ โดยเทคนิคเสียงจากภาพ (Photovoice) การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method) ระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงสำรวจ โดยใช้แบบสอถาม แบบการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างและภาพถ่ายเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าที่เข้าชมนิทรรศการในมิวเซียมสยามและพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ภายใต้องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2558 จำนวนทั้งหมด 40 คน ผลการวิจัยพบว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เข้าร่วมการวิจัยใช้เวลาในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์โดยเฉลี่ย 79.40 นาที (1 ชั่วโมง 19 นาที 40 วินาที) ในด้านลำดับการเข้าชม พบว่ารูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อลำดับการเข้าชมนิทรรศการของนักเรียน โดยนักเรียนที่เข้าชมนิทรรศการในมิวเซียมสยามจำนวนมากที่สุดเลือกชมนิทรรศการตามลำดับเนื้อหาของนิทรรศการ ขณะที่นักเรียนที่เข้าชมนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ฯ จำนวนมากที่สุดเลือกชมนิทรรศการตามความดึงดูดใจของนิทรรศการ ผลการศึกษาภาพถ่ายพบว่าประเภทภาพถ่ายที่นักเรียนถ่ายมากที่สุด คือ ภาพถ่ายแบบเฉพาะเจาะจง ภาพถ่ายส่วนใหญ่มีองค์ประกอบภาพเป็นวัตถุจัดแสดง โดยนักเรียนมีวัตถุประสงค์ในการถ่ายภาพที่หลากหลาย ทั้งนี้นักเรียนถ่ายภาพเพื่อใช้เก็บเป็นที่ระลึกมากที่สุด ในการศึกษาความพึงพอใจพบว่านักเรียนที่เข้าชมนิทรรศการในมิวเซียมสยามมีความพึงพอใจด้านการจัดแสดงนิทรรศการอยู่ในระดับมากที่สุด 2 ด้าน ได้แก่ วัตถุจัดแสดง อุปกรณ์และสื่อมัลติมีเดียและความสวยงามและความสมจริงของวัตถุจัดแสดง และด้านเนื้อหาที่มีการจัดแสดงอยู่ในระดับมากที่สุด 3 ด้าน ได้แก่ เนื้อหามีความถูกต้อง เนื้อหามีความครบถ้วนและเนื้อหาเข้าใจง่าย และนักเรียนยังได้รับประโยชน์จากการเข้าชมนิทรรศการในระดับมากสุด 4 ด้านได้แก่ ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้รับแรงกระตุ้นในการอยากเรียนรู้และได้รับความรู้ ใหม่ที่ไม่เคยทราบมาก่อน นักเรียนที่เข้าชมนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มีความพึงพอใจในด้านการจัดแสดงนิทรรศการอยู่ในระดับมากที่สุด 1 ด้าน ได้แก่ การออกแบบนิทรรศการ และด้านเนื้อหาของนิทรรศการอยู่ในระดับมากที่สุด 3 ด้าน ได้แก่ เนื้อหามีความถูกต้อง เนื้อหามีความครบถ้วนและเนื้อหาตรงตามความต้องการ และนักเรียนยังได้รับประโยชน์จากการเข้าชมนิทรรศการในระดับมากสุด 4 ด้าน ได้แก่ ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้รับแรงกระตุ้นในการอยากเรียนรู้และสามารถนำความรู้ไปใช้ได้