Abstract:
การแสดงการเป็นผู้ฟังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสนทนาและปรากฏได้ในทุกภาษา แต่อย่างไรก็ตามงานวิจัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังในแต่ละวัฒนธรรมมีความแตกต่างกันทั้งในแง่รูปแบบ ตำแหน่ง และหน้าที่ ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษารูปแบบ ตำแหน่ง และหน้าที่ถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังในการสนทนาภาษาไทย อีกทั้งยังศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังกับถ้อยคำของผู้ที่กำลังพูดอยู่ และศึกษาเปรียบเทียบถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังในบทสนทนาสองประเภท ได้แก่ บทสนทนาแบบเน้นภารกิจและบทสนทนาในชีวิตประจำวัน ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษามาจากการสนทนาของคู่สนทนาเพศหญิงที่มีสถานภาพเท่ากัน ได้แก่ ข้อมูลบทสนทนาแบบเน้นภารกิจ 9 คู่ ความยาว 69.23 นาที และข้อมูลบทสนทนาในชีวิตประจำวัน 9 คู่ ความยาว รวม 182.87 นาที ผลการวิจัยพบว่า รูปของถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังในภาษาไทยมี 10 กลุ่ม ได้แก่ 1) ถ้อยคำสั้น ๆ 2) คำอุทาน 3) ถ้อยคำที่กล่าวซ้ำคู่สนทนา 4) คำถามสั้น ๆ 5) คำรับรอง 6) คำประเมินค่า 7) ถ้อยคำที่กล่าวต่อถ้อยคำคู่สนทนาสั้น ๆ 8) คำปฏิเสธ 9) คำสั่ง และ10) คำเชื่อม ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ฟังในภาษาไทยใช้รูปถ้อยคำที่ค่อนข้างหลากหลายเพื่อแสดงการเป็นผู้ฟัง ลักษณะการปรากฏของถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังมี 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) การปรากฏเดี่ยว ๆ 2) การปรากฏซ้ำถ้อยคำ 3) การปรากฏร่วมระหว่างถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟัง ส่วนตำแหน่งของถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ 1) ตำแหน่งของถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังระดับหน่วยผลัด และ 2) ตำแหน่งของถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังระดับผลัดการสนทนา ตำแหน่งของถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังระดับหน่วยผลัดการสนทนามี 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ตำแหน่งที่กล่าวจบถ้อยคำ ตำแหน่งที่กล่าวแทรกหน่วยผลัด และตำแหน่งที่กล่าวพร้อมกัน ตำแหน่งที่พบมากที่สุด คือ ตำแหน่งที่กล่าวจบถ้อยคำ ตำแหน่งของถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังระดับผลัดการสนทนามี 2 ตำแหน่ง ได้แก่ 1) ตำแหน่งที่ปรากฏภายในผลัด และ 2) ตำแหน่งที่ปรากฏระหว่างผลัด ตำแหน่งระดับผลัดการสนทนาในภาษาไทยที่พบมากที่สุดคือ ตำแหน่งที่ปรากฏภายในผลัดการพูดของผู้พูด หน้าที่ของถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังมี 5 กลุ่มหลัก 11 หน้าที่ย่อย ได้แก่ 1) กลุ่มแสดงการรับรู้มี 4 หน้าที่ย่อย ได้แก่ แสดงการเอื้อให้กล่าวต่อ แสดงความเข้าใจ แสดงการยืนยัน และแสดงการนึกออก 2) กลุ่มแสดงความเห็นมี 4 หน้าที่ย่อย ได้แก่ แสดงความเห็นด้วย แสดงการสนับสนุนและแสดงอารมณ์ร่วม แสดงความไม่เห็นด้วย แสดงการประเมินค่า 3) กลุ่มแสดงอารมณ์ความรู้สึก 4) แสดงภาวะกำลังคิด และ 5) แสดงการโน้มน้าวให้กล่าวต่อ จากการศึกษารูปแบบ ตำแหน่ง และหน้าที่ของถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังแสดงให้เห็นว่าผู้ฟังในภาษาไทยมีแนวโน้มที่จะปฏิสัมพันธ์เชิงสนับสนุนการพูดของผู้พูดและมีส่วนร่วมในการสนทนาเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังพบว่าประเภทของวัจนกรรมมีผลต่อการใช้ถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟัง เช่น เมื่อผู้พูดกล่าวถ้อยคำในกลุ่มวัจนกรรมบอกกล่าวและกลุ่มวัจนกรรมชี้นำ ผู้ฟังสามารถเลือกใช้หน้าที่ของถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังได้อย่างหลากหลาย ในขณะที่หากผู้พูดกล่าวถ้อยคำในกลุ่มวัจนกรรมผูกมัด ผู้ฟังเลือกใช้หน้าที่ของถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังได้ค่อนข้างจำกัด เป็นต้น เมื่อศึกษาเปรียบเทียบการใช้ถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟังในข้อมูลบทสนทนาสองประเภท ได้แก่ ข้อมูลบทสนทนาแบบเน้นภารกิจและข้อมูลบทสนทนาในชีวิตประจำวัน ผลการศึกษาพบว่า ประเภทของบทสนทนามีผลต่อรูปแบบ ตำแหน่ง หน้าที่ถ้อยคำแสดงการเป็นผู้ฟัง และความสัมพันธ์ของถ้อยคำผู้พูดและถ้อยคำของผู้ฟัง โดยเฉพาะในเรื่องความถี่