Abstract:
การกล่าวซ้ำคู่สนทนาปรากฏทั่วไปในการสนทนาทุกภาษา ทุกปริจเฉทการสนทนา และมีหน้าที่ที่หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการสื่อสาร แต่การกล่าวซ้ำคู่สนทนาในแต่ละภาษาก็มีรูปแบบและหน้าที่แตกต่างกัน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์รูปแบบ ชนิดของถ้อยคำ ผลัดที่เกิดการกล่าวซ้ำคู่สนทนา และหน้าที่ของการกล่าวซ้ำคู่สนทนาในการสนทนาภาษาไทย และเพื่อเปรียบเทียบการกล่าวซ้ำคู่สนทนาในปริจเฉท การสนทนาแบบเน้นภารกิจและปริจเฉทการสนทนาในชีวิตประจำวันในภาษาไทย ข้อมูลการสนทนาแบบเน้นภารกิจมาจากคลังข้อมูล Mister O Corpus ภาษาไทย ข้อมูลการสนทนาในชีวิตประจำวันมาจากการบันทึกเสียง การสนทนาในการสนทนาแบบเผชิญหน้า ได้ข้อมูลการกล่าวซ้ำคู่สนทนาจำนวนทั้งสิ้น 452 ครั้ง ผลการวิจัยพบว่าการกล่าวซ้ำคู่สนทนาในการสนทนาภาษาไทยมี 4 รูปแบบ คือ การกล่าวซ้ำทุกส่วน การกล่าวซ้ำแบบขยายความ การกล่าวซ้ำแบบตัดทอน และการกล่าวซ้ำแบบผสม ที่พบมากที่สุดคือการกล่าวซ้ำแบบขยายความ ชนิดของถ้อยคำที่กล่าวซ้ำคู่สนทนามี 11 ชนิด แบ่งเป็นหน่วยทางภาษาระดับคำ 4 ชนิด หน่วยทางภาษาระดับวลี 5 ชนิด หน่วยทางภาษาระดับประโยคที่ไม่สมบูรณ์ 1 ชนิด และหน่วยทางภาษาระดับประโยค 1 ชนิด ที่พบมากที่สุดคือการกล่าวซ้ำกริยาวลี ผลัดที่เกิดการกล่าวซ้ำปรากฏทั้งการกล่าวซ้ำคู่สนทนาและ การกล่าวซ้ำคู่สนทนาในผลัดพูดซ้อน หน้าที่ของการกล่าวซ้ำคู่สนทนามี 17 หน้าที่ จัดกลุ่มได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ หน้าที่ที่เน้นบทบาททั้งผู้ฟังและผู้พูด 6 หน้าที่ หน้าที่ที่เน้นบทบาทผู้ฟัง 6 หน้าที่ และหน้าที่ที่เน้นบทบาทผู้พูด 5 หน้าที่ หน้าที่ที่ปรากฏมากที่สุดคือการแสดงความรับรู้สิ่งที่คู่สนทนาพูด เมื่อเปรียบเทียบการกล่าวซ้ำคู่สนทนาในปริจเฉทการสนทนาที่แตกต่างกันพบว่า รูปแบบ ชนิดของถ้อยคำ ผลัดที่เกิดการกล่าวซ้ำคู่สนทนา และหน้าที่ของการกล่าวซ้ำคู่สนทนาในปริจเฉทการสนทนาทั้ง 2 ประเภทส่วนใหญ่เหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่ความถี่ในการปรากฏในแต่ละปริจเฉทการสนทนา ข้อแตกต่างที่สำคัญคือปริจเฉทการสนทนาแบบเน้นภารกิจปรากฏการกล่าวซ้ำ คู่สนทนาที่ทำหน้าที่ดำเนินเรื่องต่อมากที่สุด ส่วนปริจเฉทการสนทนาในชีวิตประจำวันปรากฏการกล่าวซ้ำที่ ทำหน้าที่ยืนยันว่าคู่สนทนาเข้าใจถูกต้องมากที่สุด และการกล่าวซ้ำคู่สนทนาในผลัดพูดซ้อนปรากฏในปริจเฉท การสนทนาแบบเน้นภารกิจมากกว่าที่ปรากฏในปริจเฉทการสนทนาในชีวิตประจำวัน ส่วนการกล่าวซ้ำคู่สนทนา ปรากฏในปริจเฉทการสนทนาในชีวิตประจำวันมากกว่าที่ปรากฏในปริจเฉทการสนทนาแบบเน้นภารกิจ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการกล่าวซ้ำคู่สนทนาในการสนทนาภาษาไทยส่วนใหญ่ใช้เพื่อแสดงการมีส่วนร่วมในการสนทนาและแสดงว่าผู้กล่าวซ้ำให้ความสำคัญกับคู่สนทนา ทำให้การสนทนาดำเนินไปอย่างราบรื่น นอกจากนี้ประเภทของปริจเฉทและชนิดของภารกิจยังมีผลต่อรูปแบบ ชนิดของถ้อยคำ ผลัดที่เกิดการกล่าวซ้ำคู่สนทนา และหน้าที่ของ การกล่าวซ้ำคู่สนทนาในการสนทนาภาษาไทยอีกด้วย