Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาวิเคราะห์บันทึกความทรงจำความพิการโดยนักเขียนอเมริกันที่มีความพิการทางกายเรื่อง Waist-High in the World: A Life among the Nondisabled (1997) ของ แนนซี แมรส์ (Nancy Mairs) เรื่อง Too Late to Die Young: Nearly True Tales from a Life (2005) ของ แฮเรียต แม็กไบรด์ จอห์นสัน (Harriet McBryde Johnson) เรื่อง My Body Politic (2006) ของ ซิมิ ลินตัน (Simi Linton) และเรื่อง Miracle Boy Grows up: How the Disability Rights Revolution Saved My Sanity (2012) ของ เบ็น แมตต์ลิน (Ben Mattlin) ในฐานะเรื่องเล่าโต้กลับ ในฐานะที่เป็นบันทึกความทรงจำความพิการแบบใหม่ เรื่องเล่าเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความตระหนักรู้ในเรื่องความพิการในฐานะสิ่งประกอบสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม มีลักษณะโต้กลับแนวคิด มายาคติ และภาพลักษณ์ด้านลบที่มีต่อความพิการและคนพิการ มีการเชื่อมโยงระหว่างตัวผู้เขียนและชุมชนคนพิการ และสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนของคนพิการ จากการศึกษาพบว่าเรื่องเล่าดังกล่าวเปิดพื้นที่ให้คนพิการได้โต้กลับและต่อรองกับความคิดกระแสหลักเกี่ยวกับความพิการและคนพิการ ในเรื่องการดำรงชีวิตอิสระและเพศวิถีของคนพิการ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดการแบ่งแยกคนโดยใช้ความไม่พิการเป็นมาตรฐาน (ableism) และสร้างความหมายใหม่ต่อเรื่องดังกล่าวจากประสบการณ์และมุมมองของคนพิการเอง เรื่องเล่าแสดงให้เห็นว่าชีวิตของคนพิการมิได้ดำเนินไปตามวาทกรรมเทเลธอน คนพิการมีความสามารถในการบริหารจัดการชีวิต ดูแลตัวเองและคนรอบข้างด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ขึ้นในแบบของตนเอง มีบทบาทในพื้นที่ที่หลากหลายในปริมณฑลสาธารณะ และมีความสามารถในขอบเขตเรื่องเพศวิถีอีกด้วย