Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบต่างๆ ในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในเขตเมือง ลักษณะกิจกรรมในการดูแลผู้สูงอายุ และการส่งเสริมและสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในเขตเมืองของหน่วยงานภาครัฐ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้ให้ข้อมูลสำคัญได้แก่ ผู้บริหารสถานบริการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว 8 ท่าน และผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้สูงอายุ 4 ท่าน ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการดูแลระยะยาวในเขตเมือง 6 รูปแบบ ได้แก่ บ้านพักคนชรา โรงพยาบาลที่ให้การดูแลระยะยาว สถานบริบาล ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ สถานที่ช่วยเหลือในการดำรงชีวิต และสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ปัจจัยที่ทำให้สถานบริการมีความแตกต่างกันคือ 1) ผู้สูงอายุที่เข้ารับบริการ ทั้งด้านช่วงอายุ ฐานะทางเศรษฐกิจ และความสามารถในการช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน 2) กิจกรรมในการดูแล 3) ค่าบริการ 4) มาตรฐานในการให้บริการดูแล และ 5) บุคลากรที่ดูแลผู้สูงอายุ ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐยังไม่มีการส่งเสริมและสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในสถาบัน นอกจากนี้ยังพบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่ดูแลผู้สูงอายุ และปัญหาการขาดมาตรฐานสถานบริบาล ข้อเสนอแนะจากการศึกษา รัฐบาลควรกำหนดมาตรฐานสถานบริบาลเพื่อการให้บริการที่มีคุณภาพ ส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในวัยปลายและมีภาวะพึ่งพา และพัฒนาทักษะความรู้ให้กับบุคลากรที่ดูแลผู้สูงอายุ