Abstract:
บทคัดย่อ งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาแนวคิด พฤติกรรมและรูปแบบการขูดรีดแรงงานลูกจ้างประเภทเสมียนพนักงาน หรือมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพมหานคร ผ่านสมาร์ทโฟน รวมถึงผล กระทบของการใช้สมาร์ทโฟนในบริบทการทำงาน ที่มีต่อชีวิตเสมียนพนักงาน ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า กลุ่มวิจัย เปิดรับและต้องการเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนด้วยความกระตือรือร้น และยังพบว่าประสิทธิภาพก้าวล้ำของสมาร์ทโฟนนั้น ช่วยเอื้อให้การทำงานเข้าถึงตัวกลุ่มวิจัยได้ทุกเวลา ซึ่งส่วนมากคือช่วงเวลาที่กลุ่มวิจัยไม่ได้รับค่าจ้าง หรือนอกเวลาทำงาน อันเป็นเวลาที่กลุ่มวิจัยสร้างมูลค่าส่วนเกินให้นายจ้างและบริษัทขูดรีดนั่นเอง แม้ว่าสมาร์ทโฟนจะมีส่วนช่วยเพิ่มกำไรและผลิตภาพให้นายจ้างและบริษัทได้มหาศาล แต่นายจ้างมากกว่าร้อยละ 90 ไม่มีท่าทีจะช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้สมาร์ทโฟนร่วมกับกลุ่มวิจัย ยิ่งไปกว่านั้น สมาร์ทโฟนยังผลักดันให้กลุ่มวิจัยยอมรับการถูกขูดรีด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่กลุ่มวิจัยมองว่า การทำงานนอกเวลางานนั้น เป็นโอกาสแสดงตนว่าเป็นลูกจ้างพนักงานที่มีศักยภาพในการทำงาน และสามารถครอบครองเทคโนโลยีที่รองรับการทำงานได้ไม่ว่าเวลาสถานที่ใด จึงเป็นเหตุให้มองข้ามเรื่องของการถูกขูดรีดแรงงานที่เกิดขึ้นไปโดยดุษณี นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบอีกด้วยว่า ผลกระทบเชิงบวกจากการใช้สมาร์ทโฟนในบริบทการทำงานทั้งหมดนั้น ล้วนเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายนายจ้างและบริษัท ในขณะที่ผล กระทบเชิงลบ เช่น คุณภาพชีวิตที่แย่ลง หรือ การใช้ชีวิตและการทำงานไม่สมดุลกัน ล้วนตกอยู่กับฝ่ายลูกจ้าง หรือกลุ่มวิจัยทั้งสิ้น กล่าวโดยสรุปได้ว่า การขูดรีดที่เคยเกิดขึ้นกับแรงงานกรรมาชีพนั้น ในวันนี้ได้เกิดขึ้นกับแรงงานเสมียนพนักงาน หรือมนุษย์เงินเดือนแล้วเช่นกัน ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน