Abstract:
งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาข้อมูลเชิงคติชนและวิเคราะห์กลวิธีการนำข้อมูลเชิงคติชนมาประกอบสร้างเป็น นวนิยายจากผลงานของพงศกร 8 เรื่อง ได้แก่ เบื้องบรรพ์ สร้อยแสงจันทร์ ฤดูดาว วังพญาพราย กุหลาบรัตติกาล คชาปุระ นครไอยราและเคหาสน์นางคอย ผลการวิจัยพบว่า พงศกรประกอบสร้างข้อมูลเชิงคติชนจากข้อมูลหลายประเภท ได้แก่ เรื่องเล่าพื้นบ้าน ความเชื่อและขนบธรรมเนียมพื้นบ้าน วรรณคดีและวรรณกรรมไทย ประวัติศาสตร์และข้อมูลเบ็ดเตล็ดอื่นๆ โดยพงศกรใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็นฐานแล้วจินตนาการต่อยอดอย่างสมจริงและนำเสนอเป็นเรื่องเล่าเชิงคติชนที่แทรกอยู่ในนวนิยาย เรื่องเล่าเชิงคติชนที่แทรกอยู่นี้มีเนื้อหาสัมพันธ์กับการลงโทษที่มาจากการกระทำผิดของมนุษย์ การบ่งบอกความเป็นมาของคนและชุมชน และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน พงศกรนำเอาข้อมูลเชิงคติชนมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการประกอบสร้างนวนิยาย ทั้งในด้านของการสร้างโครงเรื่อง ตัวละคร และฉาก นวนิยายของพงศกรมีโครงเรื่องหลักที่เน้นการเดินทางเพื่อหาคำตอบของชีวิต โดยความขัดแย้งในเรื่องเล่าเชิงคติชนที่แทรกอยู่ในนวนิยายเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างความขัดแย้งในโครงเรื่องหลัก ด้านการประกอบสร้างตัวละคร การเดินทางทำให้ตัวละครผู้เดินทางได้เรียนรู้คำตอบจากปฏิสัมพันธ์กับตัวละคร ผู้อาศัยในพื้นที่ โดยตัวละครผู้เดินทางมักกลับชาติมาเกิดจากตัวละครในเรื่องเล่าเชิงคติชนที่แทรกอยู่ในเรื่อง ส่วน ตัวละครที่อาศัยในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะลึกลับเหนือธรรมชาติมักมีที่มาจากตัวละครในเรื่องเล่าเชิงคติชนเช่นกัน ด้านการประกอบสร้างฉาก นวนิยายของพงศกรมักนำเสนอฉากสถานที่ห่างไกลซึ่งสร้างจากเรื่องเล่าเชิงคติชนที่แทรกอยู่ในเรื่อง เพื่อเป็นพื้นที่ให้ตัวละครเอกเกิดการเรียนรู้ ส่วนฉากเวลาเป็นจุดเชื่อมต่อโลกปัจจุบันกับโลกในเรื่องเล่าเชิงคติชนเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ โครงสร้างของเรื่องราวในนวนิยายของพงศกรยังสะท้อนแบบแผนการเดินทางของวีรบุรุษในโครงสร้างเรื่องเล่าปรัมปราด้วย การนำข้อมูลเชิงคติชนมาประกอบสร้างนวนิยายของพงศกรยังสัมพันธ์กับการนำเสนอแนวคิดหลักสามประการ ประการแรก เหตุการณ์เกี่ยวกับการลงโทษ ตลอดจนตัวละครและฉากที่มาจากเรื่องเล่าเชิงคติชนเป็นสื่อที่เน้นย้ำแนวคิดเกี่ยวกับคำสอนทางพุทธศาสนาเรื่องกิเลสเป็นเหตุแห่งทุกข์และกรรมเป็นเครื่องกำหนดความเป็นไป ประการที่สอง ข้อมูลเชิงคติชนในนวนิยายของพงศกรแสดงให้เห็นภูมิปัญญาของกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่พงศกรได้นำ ภูมิปัญญานั้นมาแก้ไขปัญหาในเรื่องเมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขีดจำกัด เพื่อเสนอแนวคิดการแสดงคุณค่าของวัฒนธรรมพื้นบ้าน ประการสุดท้าย พงศกรใช้ข้อมูลเชิงคติชนเพื่อเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสภาพสังคมปัจจุบันและเสนอทางออกของปัญหาที่สังคมเผชิญอยู่ในสองประเด็น ประเด็นแรก พงศกรใช้แบบอย่างของการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติจากข้อมูลเชิงคติชนเพื่อเสนอแนะทางออกจากภัยธรรมชาติ ประเด็นที่สอง พงศกรใช้นัยยะของข้อมูลเชิงคติชนที่แสดงรากทางวัฒนธรรมและความเป็นมาที่ยาวนานมาตอบสนองต่อกระแสโหยหาอดีตของผู้คนในยุคโลภาภิวัตน์