Abstract:
ในงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะตรวจสอบปฏิสัมพันธ์ และความเชื่อมโยงของโครงสร้างภายในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์เอเชียตะวันออก โดยทำการศึกษาพลวัตของแบบโครงสร้างภายในตลาดหุ้น ผ่านมุมมองโครงข่าย ด้วยกระบวนการวิเคราะห์โครงข่ายแบบอิงสหสัมพันธ์ ซึ่งในงานวิจัยดังกล่าวนี้ เลือกที่จะนำเสนอการวิเคราะห์ความเสี่ยง Systemic Risk ทั้ง 3 รูปแบบ ได้แก่ ความแข็งแรงของโครงสร้างโครงข่าย, สภาวะลุกลามภายโนโครงข่าย และความยืดหยุ่นในการปรับตัวของโครงข่าย งานวิจัยนี้ได้นำเสนอเทคนิค ในการกลั่นกรองข้อมูล โดยการแยกแก่นแท้ของข้อมูลออกจากเส้นเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ภายในโครงข่าย โดยในที่นี้ได้เลือกใช้เทคนิคในการสร้างโครงข่ายแบบบอกทิศทางในรูปแบบเพลน ด้วยวิธี Partial Correlation Planar Maximal Filtered Graphs (PCPG) ซึ่งวิธีดังกล่าวนี้มีข้อดีอยู่ที่แก่นของข้อมูลที่ได้นั้น จะให้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับโครงข่าย MST เนื่องจากโครงข่าย PCPG ได้นำการเชื่อมโยงในรูปแบบวงวน และการจับกลุ่มย่อยภายในโครงข่ายมาพิจารณาด้วย โดยที่นำค่า Partial Correlation มาประยุกต์ใช้ ในการวัดสหสัมพันธ์ ระหว่าง 2 ตัวแปรใดๆ เมื่อหักล้างผลกระทบจากตัวกลางแล้ว เช่นวัดผลตอบแทนหุ้น ที่ได้รับผลกระทบ จาก 3 ตัวแปรโดยทำการกำหนดตัวแทน ที่มีอิทธิพลในระดับสูงต่อหุ้นต่างๆภายในตลาดมาใช้เป็นตัวกลาง เพื่อที่จะนำมาใช้หาสหสัมพันธ์แยกส่วน ซึ่งในงานวิจัยนี้มีขอบเขตการศึกษาพลวัตของดัชนี ICF ตลอดช่วง ค.ศ.1990 – 2012 ภายในดัชนีหุ้นของประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก โดยที่ ICF เป็นสัดส่วนของสหสัมพันธ์ระหว่างตลาด ต่อสหสัมพันธ์แยกส่วนระหว่างตลาด พร้อมกันนี้ยังได้นำค่าทางสถิติของแบบโครงสร้างที่ได้จากโครงข่าย MST และ PCPG มาพิจารณาระดับความเป็นศูนย์กลางของตลาดหุ้นภายในภูมิภาค งานวิจัยดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่าโครงข่ายในรูปแบบที่อิงค่าสหสัมพันธ์นั้น ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการวัดคุณสมบัติในแง่ของความเป็นศูนย์กลางภายในโครงข่าย ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการวัดความเสี่ยง Systemic Risk ผ่าน 3 มุมมอง ในการวิเคราะห์โครงสร้าง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้พบว่าโครงสร้างของระบบมีความแข็งแรงแต่เปราะบาง (Robust yet Fragile) ภายในโครงข่าย อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดสภาวะลุกลามของวิกฤตที่อาจปะทุขึ้นมาอีกครั้ง