Abstract:
วิทยานิพนธ์ในหัวข้อ รูปแบบและแนวความคิดในการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยของ นราพงษ์ จรัสศรี มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาวิเคราะห์รูปแบบและแนวความคิดในการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยของ นราพงษ์ จรัสศรี เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่มีการเก็บรวบรวมจากเอกสารต่างๆ สังเกต สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยในเชิงลึก ศึกษาจากสื่อสารสนเทศ จากผลงานการแสดงต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับงาน ๓ ชิ้น ของนราพงษ์ จรัสศรี ได้แก่ ๑) นารายณ์อวตาร (พ.ศ.๒๕๔๖) เป็นการแสดงประกอบวรรณคดีจินตภาพ ๒) แสง-เสียงประกอบจินตภาพคนดีศรีอยุธยา (พ.ศ.๒๕๓๘) เป็นการแสดงจากเรื่องราวประวัติศาสตร์ ประกอบปูชนียสถาน ใช้นักแสดงจำนวนมาก กลุ่มผู้ชมเป็นชาวต่างประเทศและนักท่องเที่ยว ๓) ปาร์ฟูม(พ.ศ.๒๕๓๒) เป็นการแสดงที่นำเสนอบทบาทของสตรีในสังคม จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูล และสรุปผล นำเสนอเป็นงานวิจัย การศึกษารูปแบบงานทั้ง ๓ ชิ้น ในด้านองค์ประกอบการแสดง ได้แก่ บทการแสดง ลีลาการแสดง เครื่องแต่งกาย ดนตรี พื้นที่การแสดง แสงฉากและอุปกรณ์ประกอบการแสดง และนักแสดง พบว่ามีรูปแบบของการบูรณาการการแสดงจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ไทยให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่และนำเสนอในระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับแนวความคิดในการสร้างสรรค์งานนาฎยศิลป์ไทยร่วมสมัยของนราพงษ์ จรัสศรีนั้น พบว่าได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ใหม่จากความดั้งเดิม ซึ่งอยู่บนพื้นฐานทฤษฎีทางนาฏยศิลป์และทฤษฎีทางศิลปะ คำนึงถึงการนำเสนอประเด็นใหม่ด้วยการผสมผสานรูปแบบการแสดงจากนาฏยศิลป์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของการแสดงดั้งเดิมไว้ นอกจากนั้นยังคำนึงถึงการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ โดยมีแนวความคิดในการให้ความสำคัญกับสังคมส่วนรวม การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย คุณธรรมจริยธรรม และการให้ความสำคัญกับสตรี ผลที่ได้จากงานวิจัยตรงตามวัตถุประสงค์