Abstract:
โดยทั่วไป พฤติกรรมการบริโภคสามารถอธิบายโดยใช้ทฤษฎีรายได้ถาวรในวงจรชีวิตอย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นการยืนยันว่าทฤษฎีนี้เหมาะสำหรับที่จะนำมาใช้ในการอธิบายพฤติกรรมการบริโภคของครัวเรือนไทย การศึกษานี้จึงมุ่งเน้นที่จะทดสอบทฤษฎีดังกล่าวว่ามีอทธิพลต่อการกำหนดการบริโภคของครัวเรือนไทยอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่โดยมีสมมติฐานแย้งว่าความไม่สอดคล้องของทฤษฎีดังกล่าวมาจากข้อจำกัดด้านสภาพคล่อง การทดสอบสมมติฐานนี้ได้ทำการทดสอบกับครัวเรือน 2 กลุ่ม คือ 1) ครัวเรือนที่คาดว่ามีข้อจำกัดในการกู้ยืม และ 2) ครัวเรือนที่คาดว่าจะไม่มีข้อจำกัดในการกู้ยืม โดยสร้างฐานข้อมูล Panel Data ใหม่เพื่อใช้ในการทดสอบจากข้อมูลเชิงเศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomics Data) หรือข้อมูลรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนระหว่างปี พ.ศ. 2531-2545 ส่วนประมาณค่าสัมประสิทธิ์สำหรับสมการที่ใช้ในการศึกษา ได้ใช้วิธีการประมาณการโดยวิธี Maximum Likelihood Estimation แล้วจึงนำข้อมูลเหล่านี้ไปทดสอบสมการ Euler Equation ที่คำนวณได้จากแบบจำลองการบริโภค ผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่า ข้อจำกัดในการกู้ยืมที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดระดับการบริโภคของครัวเรือนที่มีข้อจำกัดกลับไม่มีอิทธิพลต่อครัวเรือนกลุ่มนี้ แต่ในทางตรงข้ามข้อจำกัดในการกู้ยืมได้มีอิทธิพลต่อกลุ่มครัวเรือนที่คาดว่าจะไม่มีข้อจำกัดด้านสภาพคล่องซึ่งขัดแย้งกับสมมติฐานพฤติกรรมการบริโภคภายใต้ทฤษฎีรายได้ถาวรในวงจรชีวิตและข้อจำกัดด้านสภาพคล่อง