Abstract:
ตามประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาได้กล่าวไว้ว่า พระพุทธศาสนาได้ให้กำเนิดมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก ณ นาลันทามหาวิหาร เมื่อประมาณ พ.ศ. 1000 ซึ่งเป็นกิจการที่พระภิกษุเป็นผู้ดำเนินการ โดยรัฐให้ความอุปถัมภ์มีการจัดการศึกษาแก่พระสงฆ์ ทั้งในด้านศาสนาและวิชาการทางโลกทั่วๆ ไป แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์ได้มีบทบาทที่สำคัญในการเป็นสถานที่ให้การศึกษาแก่พระภิกษุมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล สำหรับประเทศไทยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงสถาปนามหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้น 2 แห่ง คือมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหามกุฎราชวิทยาลัย เพื่อเป็นสถานศึกษาสำหรับพระสงฆ์ทั้งด้านพระปริยัติธรรมและวิชาการที่ทันสมัยต่างๆ ด้วยเช่นกัน วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีจุดประสงค์ที่จะศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของมหาวิทยาสงฆ์ในสังคมไทย ระหว่าง พ.ศ. 2489-2526 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ได้มีการจัดการศึกษาในรูปแบบของมหาวิทยาลัยสงฆ์อย่างแท้จริง จากการศึกษาทำให้ทราบว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ได้มีบทบาทต่อสังคมไทยหลายประการ คือ มีบทบาทในการจัดการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรให้มีความรู้ทั้งในทางศาสนาและวิชาการสมัยใหม่ อาทิเช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาไทย กฎหมาย จิตวิทยา ปรัชญา ภูมิศาตร์ ประวัติศาสตร์ ศิลป และบรรณารักษศาตร์ เป็นต้น พร้อมกันนี้ มหาวิทยาลัยสงฆ์ยังได้จัดหลักสูตรให้พระภิกษุได้ออกไปปฏิบัติศาสนกิจในการพัฒนาชนบท โดยการพัฒนาวัด พัฒนาหมู่บ้าน พัฒนาจิตใจ และพัฒนาสติปัญญา รวมทั้งการศึกษา ตลอดจนให้การบริการและการสงเคราะห์ในด้านต่างๆ แก่ประชาชน ปรากฏกว่าในปีหนึ่งๆ มีพระภิกษุที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่กลับไปพัฒนาท้องถิ่นเดิมของตน มีจำนวนหนึ่งที่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ แล้วกลับมาเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ หรือทำงานด้านธุรการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย อีกจำนวนหนึ่งลาสิกขาไปประกอบอาชีพแบบฆราวาส เป็นต้นว่า ครู อาจารย์ และอนุศาสนาจารย์ หรือหากมีโอกาสไปศึกษาต่อในต่างประเทศและลาสิกขาก็กลับมารับราชการในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยสงฆ์ยังได้ส่งพระภิกษุที่สำเร็จการศึกษาจำนวนหนึ่ง ออกไปบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมตามโครงการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น โครงการพระธรรมฑูต และพระธรรมจาริก แม้ว่า มหาวิทยาลังสงฆ์จะมีบทบาทต่อสังคมดังกล่าวแล้ว แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งในประเด็นที่มหาวิทาลัยสงฆ์ ควารได้รับการรับรองวิทยฐานะจากรัฐบาลหรือไม่ ข้อโต้แย้งนี้ได้ยืดเยื้อมาเป็นเวลามากว่า 20 ปี