Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการด้านรูปแบบและเนื้อหาของเรื่องเล่ายะมะดะ นะงะมะซะ ซึ่งเป็นงานเขียนประเภทคะอิงะอิยูฮิ(海外雄飛) มีเนื้อหาเกี่ยวกับวีรกรรมของชาวญี่ปุ่นที่เดินทางออกไปเผชิญโชคและประสบความสำเร็จในต่างแดน โดยรวบรวมวิเคราะห์ตัวบทตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึงปัจจุบัน ตลอดจนศึกษาบทบาทของเรื่องเล่าดังกล่าวในการประกอบสร้างอัตลักษณ์ญี่ปุ่นผ่านการนำเสนอภาพแทนความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทย ผลการศึกษาสรุปได้ว่า ในด้านรูปแบบและเนื้อหา มีการนำเรื่องเล่ายะมะดะ นะงะมะซะ มาดัดแปลงและผลิตซ้ำในหลากหลายรูปแบบและเนื้อหามีความเปลี่ยนแปลงจากข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับสยามที่เพิ่มมากขึ้น จากการสร้างเสริมโดยจินตนาการของผู้ประพันธ์ ทั้งยังเกี่ยวพันกับวาทกรรมความคิดต่างๆในสังคมร่วมยุคสมัยของการสร้างงาน ในด้านบทบาทในการประกอบสร้างอัตลักษณ์ญี่ปุ่นนั้น พบว่ามีการนำเรื่องเล่ายะมะดะ นะงะมะซะมาใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบสร้างและปลูกฝังอัตลักษณ์ญี่ปุ่นโดยผ่านการนำเสนอภาพความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างญี่ปุ่น–ไทยในตัวบท โดยอัตลักษณ์ญี่ปุ่นในเรื่องเล่าดังกล่าวมีลักษณะเป็นพลวัตที่เลื่อนไหลปรับเปลี่ยนไปตามบริบททางสังคมวัฒนธรรม สามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วงคือ ช่วงที่ 1 ช่วงการก่อตัวของจิตสำนึกความเป็นชาติที่มีญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางอารยธรรมในสมัยปิดประเทศ ภาพแทนไทยจึงเป็นอนารยะซึ่งขับเน้นความเป็นชาติอารยะของญี่ปุ่น ช่วงที่ 2 ช่วงการประกอบสร้างอัตลักษณ์ที่ซับซ้อนและขัดแย้งระหว่างการมุ่งเป็นตะวันตกกับการเชิดชูความเป็นตะวันออกตั้งแต่ญี่ปุ่นเปิดประเทศจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงที่ 3 ช่วงการแสวงหาอัตลักษณ์ที่หลากหลาย ผ่านการนำเสนอภาพแทนความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทยในโลกระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์และพหุวัฒนธรรมตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงปัจจุบัน