Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสยามและล้านนา พ.ศ. 2417-2476 ผลการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสยามกับล้านนาจากรัฐประเทศราชมาเป็นส่วนหนึ่งในพระราชอาณาเขตเป็นกระบวนการหนึ่งของการสร้างรัฐชาติโดยมีปัจจัยสำคัญคือการล่าลัทธิอาณานิคมของชาติตะวันตก แต่จากการปรับตัวของชนชั้นนำสยามในการเรียนรู้วิธีการจัดการปกครองของเจ้าอาณานิคม ทำให้รัฐสยามใช้วิธีการที่คล้ายคลึงกันนี้ผนวกล้านนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ วิธีการดังกล่าวได้แก่ การออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย การส่งข้าหลวงขึ้นไปกำกับราชการ การเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษีอากรเพื่อนำมาใช้สร้างระบบราชการสยาม การทำแผนที่และสำมะโนครัว พัฒนาการสื่อสารและการคมนาคมแบบสมัยใหม่ การวางรากฐานการศึกษาและควบคุมสถาบันสงฆ์ ส่งเสริมการเผยแพร่ศาสนาของมิชชันนารี โดยสยามได้นำวิธีการแบบรัฐจารีต มาใช้ควบคู่กันไปได้แก่ การสร้างสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเจ้าเมืองเชียงใหม่ ผลจากการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากกลุ่มอำนาจท้องถิ่นทั้งการจับอาวุธขึ้นสู้ในลักษณะของกบฏและการใช้ความเชื่อดั้งเดิมเป็นพลังทางสังคมเพื่อต่อต้านอำนาจของสยาม นอกจากนี้ความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างไทยเหนือและไทยใต้ และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ทำให้ล้านนายังคงขาดความจงรักภักดีต่อสยามพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงปรับเปลี่ยนนโยบายการปกครองล้านนาใหม่ให้แตกต่างไปจากสมัยก่อนหน้าอย่างชัดเจนโดยใช้ลัทธิชาตินิยมของตะวันตกผ่านการจัดการศึกษาสิ่งพิมพ์ และกิจกรรมเสือป่า เพื่อปลูกฝังให้คนล้านนารู้สึกถึงความเป็นไทยร่วมกันกับส่วนกลาง รวมทั้งมีนโยบายดูแลทุกข์สุขและการทำมาหากินของราษฎร และเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกรุงเทพฯ และล้านนา อีกทั้งการเสด็จประพาสมณฑลพายัพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการย้ำให้คนล้านนาเห็นว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองอยู่ที่กษัตริย์สยามมิใช่บรรดาเจ้านายอีกต่อไป และล้านนา อีกทั้งการเสด็จประพาสมณฑลพายัพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการย้ำให้คนล้านนาเห็นว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองอยู่ที่กษัตริย์สยามมิใช่บรรดาเจ้านายอีกต่อไป