Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษากลวิธีการประพันธ์ยวนพ่ายโคลงดั้นที่มีความดีเด่นสมบูรณ์แบบและมีอิทธิพลต่อวรรณคดียอพระเกียรติสมัยต่อมา ผลการศึกษาพบว่ายวนพ่ายโคลงดั้นมีกลวิธีการประพันธ์ที่ดีเยี่ยมทั้งกลวิธีการเล่าเรื่องและกลวิธีทางวรรณศิลป์ ผู้เล่าเรื่อง คือ ผู้ประพันธ์ที่แสดงตนว่าอยู่ฝ่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงมุ่งสรรเสริญสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถอย่างมีเอกภาพผ่านองค์ประกอบต่างๆ ของเรื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นภาพลักษณ์กว้าง ๆ ของพระองค์ คือ พระมหากษัตริย์ที่สมบูรณ์แบบและภาพที่ต้องการเน้นเฉพาะในเรื่องนี้ ซึ่งได้แก่ ภาพกษัตริย์นักรบผู้เก่งกล้า มีปัญญา และมีเมตตาธรรม นอกจากนี้ กวียังสร้างตัวละครคู่ปรปักษ์เพื่อเชิดชูความดีงามของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถให้เด่นชัดขึ้น การสร้างฉากเมืองเชียงชื่นแสดงให้เห็นพระเดชานุภาพของพระองค์ได้ชัดเจน ส่วนกลวิธีทางวรรณศิลป์ในยวนพ่ายโคลงดั้นทำให้บทประพันธ์มีทั้งความไพเราะงดงามและทำให้การสรรเสริญสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีความลุ่มลึก เช่น การใช้ความเปรียบเพื่อยกย่องพระองค์ว่าดีเลิศเหมือนเทพเจ้า เหมือนพระพุทธเจ้า และเหมือนตัวละครในวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ การเล่นคำแบบซ้ำคำและซ้ำเสียงที่สร้างทั้งความไพเราะและเน้นความหมายของเนื้อความ กลวิธีการประพันธ์ที่มีลักษณะโดดเด่นทำให้ยวนพ่ายโคลงดั้นเป็นต้นแบบให้แก่วรรณคดียอพระเกียรติสมัยต่อมา มีการแต่งบทประพันธ์เลียนแบบยวนพ่ายโคลงดั้น เช่น การสร้างเนื้อหาให้เป็นองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อเชิดชูคุณลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การเล่าเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ที่ร้อยเรียงต่อกันด้วยการใช้คำว่า “แถลงปาง” และการใช้ความเปรียบเพื่อสรรเสริญพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม วรรณคดียอพระเกียรติสมัยต่อมาก็มีพัฒนาการที่ต่างออกไป ซึ่งเป็นไปตามบริบทของสังคม เช่น การสรรเสริญพระมหากษัตริย์จากที่เป็นเทวราชาอย่างเด่นชัดใน ยวนพ่ายโคลงดั้นก็คลี่คลายเป็นมนุษย์ที่ทรงธรรมและทรงงานอย่างหนักเพื่อประชาชนในวรรณคดียอพระเกียรติปัจจุบัน พระสติปัญญาญาณหยั่งรู้อดีต อนาคต หรือใจคนก็ปรับเปลี่ยนให้เห็นพระสติปัญญาที่เกิดจากการศึกษาและเรียนรู้สรรพวิทยา