Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความเป็นมาและความหมายของคำ “ลิลิต” และมุ่งศึกษาวรรณคดีลิลิตจำนวน ๖๒ เรื่อง ในเรื่องความเป็นมาและความเปลี่ยนแปลงด้านฉันทลักษณ์และด้านเนื้อหา ผลการศึกษาสรุปได้ว่าคำ “ลิลิต” มีที่มาจากคำ “ลลิต” ในภาษาบาลีสันสกฤต โดยนำมาใช้ในความหมายว่า “เล่น” ปรากฏหลักฐานในจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี ใช้เรียกวิธีการเล่นสัมผัสที่กำหนดรูปวรรณยุกต์ ต่อมามีหลักฐานในลิลิตจันทกินรว่านำมาใช้เรียกการเล่นสลับระหว่างร่ายกับโคลง จากนั้นมา “ลิลิต” จึงได้ใช้เป็นชื่อคำประพันธ์ประเภทหนึ่งของไทยมาจนถึงปัจจุบัน ในด้านฉันทลักษณ์พบว่า มีความเปลี่ยนแปลงด้านฉันทลักษณ์ในวรรณคดีลิลิต โดยพบการแต่ง ฉันทลักษณ์ชนิดอื่นแทรกในวรรณคดีลิลิตครั้งแรก ในลิลิตเพชรมงกุฎ สมัยอยุธยาตอนปลาย การแทรกฉันทลักษณ์ชนิดอื่น พบทั้งการแทรกฉันทลักษณ์ในตัวเรื่อง และการแทรกฉันทลักษณ์นอกตัวเรื่อง ฉันทลักษณ์ที่นำมาแทรกมี ๓ ชนิด ได้แก่ กาพย์ กลอน และกลอนเพลงพื้นบ้านประเภทเพลงกล่อมเด็ก การแทรกฉันทลักษณ์ชนิดอื่นเพื่อให้เหมาะสมกับเนื้อหาในตอนนั้น ทั้งยังช่วยแบ่งสัดส่วนของเนื้อหา และเป็นการแสดงความสามารถของผู้แต่งในการแต่งคำประพันธ์ชนิดอื่นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ร่ายและโคลงยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการแต่งวรรณคดีประเภทลิลิต ในด้านเนื้อหาพบว่า วรรณคดีประเภทลิลิตมีความเปลี่ยนแปลงด้านเนื้อหาจากสมัยอยุธยาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มี ๔ ประเภท ได้แก่ ประเภทบันทึกความทรงจำหรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ประเภทนิทาน-นิยาย ประเภทศาสนา และประเภทคำสอน แต่ในรัชกาลปัจจุบันมี เพียง ๓ ประเภท ได้แก่ ประเภทบันทึกความทรงจำหรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ประเภทนิทาน-นิยาย และประเภทศาสนาและมีวัตถุประสงค์ในการสดุดีทั้งสิ้น ประเภทบันทึกความทรงจำหรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ พบครั้งแรกในลิลิตโองการแช่งน้ำ สมัยอยุธยาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื้อหาเป็น เรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และราชสำนัก แต่นับจากสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา มีการแต่งเรื่องเกี่ยวกับสามัญชนมากขึ้นและปรากฏมาถึงสมัยรัชกาลปัจจุบัน ประเภทนิทาน-นิยาย พบครั้งแรกในลิลิตพระลอ พบว่าเนื้อหาประเภทนี้นิยมนำเค้าเรื่องจากนิทานต่างประเทศมาแต่งมากที่สุด พบจำนวน ๘ เรื่อง แต่พบว่าตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเป็นต้นมาผู้แต่งนิยมแต่งเรื่องขึ้นใหม่ ประเภทศาสนา พบครั้งแรกในลิลิตจันทกินร โดยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนิยมนำเรื่องจากชาดกมาแต่งมากที่สุด พบจำนวน ๙ เรื่อง แต่พบว่าในสมัยรัชกาลปัจจุบันนิยมแต่งเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติ ประเภทคำสอน พบครั้งแรกในลิลิตตำรานพรัตน์ โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พบว่านิยมแต่งเป็นตำรา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนิยมแต่งเป็นสุภาษิต และในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนิยมแต่งเพื่อให้ความรู้และเผยแพร่นโยบายของรัฐ