Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความไว้วางใจทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับการเมืองท้องถิ่นไทย ตลอดจนหารูปแบบโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ทำการศึกษา ซึ่งมีขอบเขตการวิจัยจำกัดอยู่เฉพาะหน่วยการวิเคราะห์ระดับองค์การบริหารส่วนตำบลเท่านั้น โดยได้ตั้งสมมติฐานการวิจัยไว้ว่าสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคม ทุนทางสังคม การสื่อสารทางการเมือง ความรู้ทางการเมือง การระดมทางการเมือง ทัศนคติทางการเมืองเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความไว้วางใจทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมือง วิธีการศึกษา ได้ใช้รูปแบบการวิจัยใน 2 ลักษณะ คือ การวิจัยเชิงปริมาณ โดยเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างในระดับปัจเจกบุคคล ได้จำนวน 902 คน เพื่อนำมาวิเคราะห์หาค่าความสัมพันธ์และค่าน้ำหนักอิทธิพลระหว่างตัวแปร ในรูปแบบสมการโครงสร้าง (Structural Equation Model) โดยใช้เทคนิคโปรแกรมลิสเรลในการคำนวณหาค่าดังกล่าว และการวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อได้ข้อมูลเชิงเจาะลึกและชี้ให้เห็นถึงสภาพโครงสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองในท้องถิ่นที่ทำการศึกษาเฉพาะในบางพื้นที่ที่น่าสนใจ ผลการศึกษาพบว่า ที่ระดับนัยสำคัญ .05 ตัวแปรที่ส่งอิทธิพลทางตรงต่อความไว้วางใจทางการเมือง ได้แก่ ตัวแปรทุนทางสังคม (0.148) และตัวแปรการมีส่วนร่วมทางการเมือง (-0.117) ตัวแปรที่ส่งอิทธิพลทางตรงอย่างมีนัยสำคัญต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้แก่ ตัวแปรทุนทางสังคม (0.282) ตัวแปรการสื่อสารทางการเมือง (0.182) และตัวแปรการระดมทางการเมือง (0.455) นอกจากนี้ ตัวแปรทุนทางสังคมยังส่งอิทธพลทางอ้อมต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการระดมทางการเมือง (0.312) และการสื่อสารทางการเมือง (0.081) อีกด้วย ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาในเชิงคุณภาพพบว่า ตัวแปรทุนทางสังคมเป็นเงื่อนไขสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความไว้วางใจทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยพบว่าระบบอุปถัมภ์และความผูกพันในชุมชนท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบปัจจัยภายในสำคัญต่อตัวแปรทั้งสอง