Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวความคิด วิธีการสร้างสรรค์ การตีความด้วยรูปแบบวีดิทัศน์เรื่องเงาะป่า ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและวิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับและบริบททางสังคมในการแสดง โดยมีขอบเขตของการวิจัยโดยศึกษาถึงบทละครเรื่องเงาะป่า บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรูปแบบ วีดิทัศน์เรื่องเงาะป่า ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานของศาสตราจารย์ ดร.นราพงษ์ จรัสศรี ในปี พ.ศ. 2536 โดยได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยในรูปแบบวีดิทัศน์เรื่องเงาะป่า อีกทั้งได้บันทึกภาพถ่าย และการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือแม้กระทั่งข้อมูลออนไลน์ทางอินเตอร์เนต และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทำเป็นวิทยานิพนธ์ การศึกษาพบว่า นาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยในรูปแบบวีดิทัศน์เรื่องเงาะป่ามีจุดประสงค์ในการสร้างสรรค์ผลงาน เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของผู้ประพันธ์บทละคร รูปแบบการแสดงจึงมีความพิเศษเพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้ประพันธ์ อีกทั้งเป็นการสดุดีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานพื้นที่ส่วนพระองค์ให้กับมหาวิทยาลัยอีกและเป็นผู้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น โดยรูปแบบการแสดงเรื่องเงาะป่า ได้ใช้สถานที่ในการถ่ายทำคือ “จุฬาวนาลัย” เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์และยังคงรักษาความเป็นพื้นป่าได้มากที่สุดในขณะนั้น จึงเป็นการเสมือนได้ว่าผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้นได้เห็นถึงคุณค่าของมหาวิทยาลัยและเป็นการตอบแทนพระคุณต่อมหาวิทยาลัย จึงเป็นสิ่งที่ให้ผู้สร้างสรรค์ได้มีโอกาสทำผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยในรูปแบบวีดิทัศน์ เรื่องเงาะป่าชิ้นนี้ขึ้น ซึ่งในปัจจุบันสถานที่ถ่ายทำก็คงเหลือเพียงภาพถ่าย และวีดิทัศน์ชิ้นนี้เท่านั้น จึงทำให้ผู้วิจัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในด้านบทละคร นาฏยศิลป์ไทย และทรัพยากรสิ่งแวดล้อม จึงได้นำมาสู่รูปแบบการวิจัยและนับได้ว่าเป็นความรู้ที่ควรค่าแก่การศึกษาต่อไป