Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องการแสดงสิละคณะพิกุลทอง จังหวัดปัตตานี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติ พัฒนาองค์ประกอบการแสดง และวิธีการแสดงสิละของคณะพิกุลทอง จังหวัดปัตตานี โดยศึกษาจากเอกสารการสัมภาษณ์ การสังเกตจากการแสดง ภาพวีดีทัศน์ และการฝึกหัดจากผู้เชี่ยวชาญการแสดงสิละ การศึกษาพบว่า สิละเป็นการแสดงอย่างหนึ่งของชาวไทยมุสลิม เดิมเป็นศิลปะป้องกันตัว ซึ่งนำท่าทางจากธรรมชาติ 4 ประเภท ได้แก่ ท่าธรรมชาติของมนุษย์ ท่าธรรมชาติของสัตว์ ท่าใช้อาวุธพื้นเมือง และท่าที่ได้แนวคิดมาจากดอกไม้ในอุดมคติ มาดัดแปลงเป็นท่าทางในการต่อสู้ สิละแพร่หลายในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสสลาม สิงคโปร์ และจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล และสงขลา สิละเป็นศิลปะป้องกันตัว เป็นศิลปะการแสดง เป็นกีฬาเพื่อนันทนาการ และเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมพื้นบ้าน คณะสิละพิกุลทองก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2526
โดยสืบทอดการแสดงมาจากสิละของเจ้าเมืองรามัน (ยะลา) ปัจจุบันมีผู้แสดงทั้งชายและหญิงแสดงร่วมกันจำนวน 19 คน มีอายุระหว่าง 14 – 93 ปี ผู้แสดงส่วนใหญ่เริ่มฝึกหัดระหว่างอายุ 9 – 15 ปี และฝึกอยู่ประมาณ 100 วัน การแสดงมีวัตถุปรสงค์ 2 ประการ คือ เพื่อความบันเทงและเพื่อพิธีกรรม เพื่อความบันเทิงมี 3 ขั้นตอน และเพื่อพิธีกรรมมี 6 ขั้นตอน เพื่อพิธีกรรมมี 3 วัตถุประสงค์ คือ เพื่อไหว้บรรพบุรุษ เพื่อครอบครูสิละ และเพื่อแก้บนรักษาไข้ สถานที่แสดงมี 3 แบบ คือ เวทีติดดิน เวทียกพื้น และเวทีในโรงพิธี ซึ่งมีขนาดกว้าง 5 เมตร และรั้วสูง 1 เมตร เครื่องดนตรีประกอบด้วยกลองแขกคู่ ปี่ซูนา และฆ้อง เพลงที่ใช้ในการแสดง คือ เพลสรหม่าแขก การแสดงสิละของคณะพิกุลทองมี 2 แบบ คือ สิละมือเปล่า และสิละกริช ประกอบด้วย กระบวนท่ารำเดี่ยว และกระบวนทารำคู่ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้นตอน คือ 1. รำเดี่ยวไหว้ครู มี 2 แบบ คือ รำไหว้ครุ 2 ทิศและรำไหว้ครู 4 ทิศ ผู้แสดงผลัดกันรำทีละคน 2. รำดูเชิง มี 2 กระบวนๆ ละ 3 เที่ยว ผู้แสดงรำพร้อมกันเป็นวงกลมเวียนขวา หันหน้าเข้าหากัน และยืนตรงกันหรือเหลื่อมกัน 3. รำต่อสู้ มี 3 กระบวน คือ ท่าแทง ท่าฟัน และท่าจับ กระบวนละ 2 เที่ยว ผู้แสพงรำเป็นวงกลมเวียนขวา หันหน้าเข้าหากัน และยืนตรงกันหรืเหลื่อมกัน 4.ร่ำคู่ไหว้ครูจบการแสดง มี 1 กระบวน ผู้แสดงรำพร้อมกัน 2 ทิศ การแสดงสิละเป็นส่วนหนึ่งของวิธีชีวิตของคนไทยในภาคใต้ตอนล่างตลอดมา จึงควรมีการอนุรักษ์และส่งเสริมเพื่อให้สิละเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติสืบไป