Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นกระบวนการประกอบสร้างอัตลักษณ์ชายรักชายในงานประพันธ์ประเภทอัตชีวประวัติและบทละครไทยร่วมสมัย ทั้งนี้ บันทึกความทรงจำถือเป็นกลุ่มย่อยของงานประพันธ์อัตชีวประวัติ ชายรักชายใช้พื้นที่ทางวรรณกรรมเป็นช่องทางในการนำเสนอประสบการณ์และตัวตนผ่านเรื่องเล่าในงานประพันธ์ทั้งสองประเภท อัตลักษณ์ในบันทึกความทรงจำเป็นอัตลักษณ์ที่สร้างจากการเขียน องค์ประกอบในบันทึกความทรงจำที่นำมาวิเคราะห์การสร้างอัตลักษณ์ชายรักชาย ได้แก่ ปกและภาพประกอบ, คำนำ และประเด็นเนื้อหาอันว่าด้วยเรื่องตัวตนทางเพศ, ความรัก-ความสัมพันธ์ และอาชีพ อัตลักษณ์ในบทละครเป็น อัตลักษณ์ที่สร้างจากการตีความ จากบทละครที่ศึกษาพบว่าอัตลักษณ์ชายรักชายสร้างจากบริบทการวิพากษ์อคติหรือแบบแผนของสังคมด้วยประเด็นเนื้อหาและกลวิธีการนำเสนอเนื้อหาตามที่ปรากฏในเรื่องเล่าในตัวบทบทละคร โดยใช้สุนทรียะแบบแคมป์เป็นกลวิธีสำคัญในการสร้าง อัตลักษณ์ บันทึกความทรงจำและบทละครมอบโอกาสสำหรับชายรักชายในการนำเสนอเรื่องเล่า ทว่า งานประพันธ์ทั้งสองประเภทต่างมีข้อจำกัดในตัว เรื่องเล่าในบันทึกความทรงจำเปิดโอกาสให้ชายรักชายนำเสนอประเด็นเนื้อหาที่แสดงกระบวนการและรายละเอียด สืบเนื่องจากรูปแบบการประพันธ์ที่ใช้การเขียนเชิงพรรณนา ส่วนเรื่องเล่าในบทละครมอบขอบข่ายการนำเสนอประเด็นเนื้อหาที่อยู่ในกระแสร่วมสมัยของสังคม สืบเนื่องจากรูปแบบการประพันธ์ที่สร้างตัวบทอันเกิดความหมายจากการสวมบทบาทในการแสดง ในเรื่องราวตามมิติเวลาเฉพาะกาล นอกจากนี้ ชายรักชายยังใช้เรื่องเล่าในงานประพันธ์ทั้งสองประเภทเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ตัวตน, เครื่องมือแสวงหาแนวร่วมทางสังคม, แหล่งเยียวยาความทุกข์ตรม และแหล่งบำบัดความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ อนึ่ง เรื่องเล่าในงานประพันธ์ทั้งสองประเภทผูกโยงกับมิติประวัติศาสตร์และสังคมอย่างไม่อาจแยกขาด