Abstract:
ประเมินแอคติวิตี้ของเอนไซม์เบต้า กลูคูโรนิเดสในน้ำเหลืองเหงือกจากฟัน ของผู้ป่วยปริทันต์อักเสบที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และผู้ป่วยปริทันต์อักเสบที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน และหาความสัมพันธ์ระหว่างแอคติวิตี้ของเอนไซม์เบต้า กลูคูโรนิเดสกับดัชนีวัดทางคลินิกต่างๆ โดยการสุ่มตัวอย่าง จากฟันจำนวน 240 ซี่ ในผู้ป่วย 5 กลุ่ม โดยมีผู้ป่วยกลุ่มละ 8 คน กลุ่ม 1 เป็นผู้ป่วยปริทันต์อักเสบที่เป็นโรคเบาหวาน และสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ กลุ่ม 2 เป็นผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบที่เป็นโรคเบาหวาน และไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด กลุ่ม 3 เป็นผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบที่ไม่มีประวัติของการเป็นโรคเบาหวาน กลุ่ม 4 และ 5 เป็นผู้ป่วยที่มีอวัยวะปริทันต์ปกติ แต่ผู้ป่วยกลุ่ม 4 มีประวัติการเป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย ผู้ป่วยทั้ง 5 กลุ่ม ได้รับการเก็บน้ำเหลืองเหงือกด้วยแถบกระดาษกรองจากร่องลึกปริทันต์ ในตำแหน่งที่ลึกที่สุดของฟันตัดหน้า ฟันกรามน้อยซี่ที่ 1 และฟันกรามซี่ที่ 1 ใน 2 จตุภาคของช่องปาก วัดปริมาตรน้ำเหลืองเหงือกโดยใช้เครื่องเพอริโอตรอน 8000 แล้วตรวจหาแอคติวิตี้ของเอนไซม์เบต้า กลูคูโรนิเดส โดยการอ่านค่าการดูดกลืนแสงจากเครื่องสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ พบว่า แอคติวิตี้ของเอนไซม์เบต้า กลูคูโรนิเดสในน้ำเหลืองเหงือกจากฟันของผู้ป่วยกลุ่ม 1,2 และ 3 ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) โดยกลุ่ม 1 มีค่าเฉลี่ยของเอนไซม์เท่ากับ 1.58 (+_0.69) ยูนิต, กลุ่ม 2 เท่ากับ 1.53 (+_0.67) ยูนิต และกลุ่ม 3 เท่ากับ 1.41 (+_0.89) ยูนิต อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีอวัยวะปริทันต์ปกติคือ กลุ่ม 4 และ 5 พบว่า ผู้ป่วยกลุ่ม 1,2 และ 3 มีแอคติวิตี้ของเอนไซม์เบต้า กลูคูโรนิเดสมากกว่ากลุ่ม 4 และ 5 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยกลุ่ม 4 มีค่าเฉลี่ยของเอนไซม์เท่ากับ 0.87(+_0.28) ยูนิต, กลุ่ม 5 เท่ากับ 0.89 (+_0.25) ยูนิต ซึ่งใน 2 กลุ่มนี้ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้จึงไม่พบความสัมพันธ์ ระหว่างโรคปริทันต์อักเสบกับโรคเบาหวาน แต่แอคติวิตี้ของเอนไซม์เบต้า กลูคูโรนิเดสจะเพิ่มขึ้นเด่นชัดในผู้ป่วยปริทันต์อักเสบ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่มีอวัยวะปริทันต์ปกติ โดยแอคติวิตี้ของเอนไซม์จะแปรผันตรงกับความลึกของร่องลึกปริทันต์ ดัชนีเหงือกอักเสบ ระดับการยึดเกาะทางคลินิก และปริมาตรของน้ำเหลืองเหงือก