Abstract:
เหตุรำคาญเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคมแม้จะเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อยแต่ถ้าปัญหาดังกล่าวมีการสะสมมากขึ้นอาจเป็นเหตุให้เสื่อมต่อสุขภาพและกลายเป็นปัญหาที่ร้ายแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งนี้ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ได้กำหนดความหมายของเหตุรำคาญไว้ ซึ่งสรุปได้ว่า เหตุรำคาญ อาจเป็นเหตุที่เกิดจากกลิ่นเหม็น ละอองเป็นพิษ หรือน่าจะเป็นที่เพาะพันธุ์พาหะนำโรค หือเกิดความเสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์ที่มีจำนวนมาก อาคารหรือโรงงานที่ปราศจากระบบ การระบายกาอาศ การระบายน้ำ การกำจัดสิ่งปฏิกูล หรือการควบคุมสารพิษ ตลอดจนกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เหตุรำคาญอาจเป็นสิ่งเล็กน้อย เป็นฝุ่นละอองไปจนถึงสิ่งที่เป็นพิษ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันการนิยามความหมายของเหตุรำคาญ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ยังไม่ชัดเจนพอจึงไม่อาจแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญได้ครอบคลุมไปจนถึงผลกระทบทางอ้อมที่เกิดจากเหตุรำคาญรวมทั้งภาวะคุกคามต่างๆ
โดยศึกษาเปรียบเทียบจากกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้สภาพบังคับของกฎหมายพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นผู้ตักเตือนแก้ไข ระงับเหตุรำคาญเป็นปัญหาที่ผู้เสียหายต้องร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนในเบื้องต้นไม่อาจแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจได้ในทันที เจ้าพนักงานตำรวจจะดำเนินคดีได้ต่อเมื่อมีการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเท่านั้น ผู้วิจัยจึงได้เสนอให้กำหนดความหมายเหตุรำคาญไว้ให้ชัดเจน รวมถึงกำหนดให้ผู้ก่อเหตุรำคาญเป็นผู้กระทำความผิดที่มีโทษทางอาญา เพื่อให้ดำเนินการของเจ้าพนักงานตำรวจมีประสิทธิภาพ คุ้มครองประชาชนและรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษเพิ่มขึ้นหากเป็นกรณีได้กระทำความผิดซ้ำและควรมีมาตรการจูงใจสำหรับผู้แจ้งเหตุรำคาญที่เกิดในชุมชนด้วย