Abstract:
ศึกษาถึงนโยบายทางการค้าน้ำมันปาล์มภายใต้การรวมกลุ่มทางการค้าของภูมิภาค ที่เรียกว่าข้อตกลงของเขตการค้าเสรีอาเซียน (Asean Free Trade Area : AFTA) เพื่อทำการวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการลดอัตราภาษีลงเหลือร้อยละศูนย์ในสินค้าประเภทน้ำมันปาล์ม ต่ออุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มโดยตรง อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแปรทางเศรษฐกิจระดับมหภาคต่างๆ โดยใช้ฐานข้อมูลจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-output table) ของประเทศไทยในปี 2548 และใช้เครื่องมือ Global Trade Analysis Project (GTAP Model) ในการวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่า สาขาการผลิตที่มีความสัมพันธ์ต่ออุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและเศรษฐกิจโดยรวม ในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำในระบบเศรษฐกิจ ได้แก่ สาขาการผลิตน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ การผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน และการผลิตไฟฟ้า สำหรับสาขาการผลิตในฐานะปลายน้ำในภาคเกษตร ได้แก่ สาขาการผลิตเนื้อกระป๋อง และการผลิตน้ำนมและผลิตภัณฑ์จากนม ส่วนสาขาการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตเครื่องมือเครื่องจักรในสำนักงานและครัวเรือน การผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ เมื่อไทยดำเนินการภายใต้นโยบายการค้าเสรีน้ำมันปาล์ม ส่งผลต่อตัวแปรทางด้านต้นทุนการผลิตที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มได้รับผลกระทบในทิศทางที่เป็นลบ ตัวแปรในภาคการค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากการที่ดุลการค้าโดยรวมขาดดุลเพิ่มขึ้นเนื่องจากมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นมากกว่ามูลค่าส่งออกที่เพิ่มขึ้น ส่วนดุลการค้าในภาคการผลิตน้ำมันปาล์มก็ขาดดุลมากขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นในขณะที่มูลค่าส่งออกลดลง สำหรับข้อเสนอแนะที่ได้จากการศึกษาคือ ในระยะสั้นรัฐบาลควรคงนโยบายควบคุมการนำเข้าไว้ควบคู่กับการค้าเสรีในสินค้าน้ำมันปาล์ม และในระยะยาวรัฐบาลควรกำหนดนโยบายการอุดหนุนผลผลิต โดยที่รัฐเป็นตัวกลางในการรับซื้อและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบด้วยตนเอง และกำหนดเพดานราคาขายน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ให้ต่ำลงเพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตในระดับปลายน้ำ