Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการมองเห็นการติดสีของสารย้อมคราบจุลินทรีย์ต่อ ความสามารถในการแปรงฟันของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 วัสดุและวิธีการ งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาข้ามกลุ่มในเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 อายุ 8 - 10 ปี ของโรงเรียนรัฐบาลในความดูแลของศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยาม บรมราชกุมารี ฯ จังหวัดนครนายก เด็กจำนวน 122 คน จากโรงเรียน 12 แห่ง ใช้วิธีการสุ่มอย่าง ง่ายแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกทดสอบการแปรงฟันโดยไม่เห็นการติดสีของสารย้อมคราบ จุลินทรีย์ขณะแปรง ในขณะที่กลุ่มที่สองทดสอบการแปรงฟันโดยให้ส่องกระจกขณะแปรงฟัน เพื่อมองเห็นการติดสีของสารย้อมคราบจุลินทรีย์ หลังจากนั้น 1 เดือนทดสอบการแปรงฟันอีกครั้ง ด้วยขั้นตอนเดียวกันแต่สลับวิธีระหว่าง 2 กลุ่ม เด็กทั้งสองกลุ่มไม่ได้รับการสอนแปรงฟัน ใช้ดัชนี พีเอชพีในการวัดการติดสีของสารย้อมของคราบจุลินทรีย์ก่อนและหลังการแปรงฟัน ความ สามารถในการแปรงฟันประเมินจากผลต่างของคะแนนดัชนีพีเอชพีก่อนและหลังการแปรงฟัน (คะแนนดัชนีพีเอชพีที่ลดลง) ใช้สถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำในการวิเคราะห์ ข้อมูล ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการศึกษา ค่าเฉลี่ยคะแนนดัชนีพีเอชพีที่ลดลงทั้งปากเมื่อไม่เห็นการติดสีมีค่า 1.29 + 0.57 (ร้อยละ 31.53) และเมื่อมองเห็นการติดสีมีค่า 1.78 + 0.56 (ร้อยละ 43.75) การ มองเห็นการติดสีของสารย้อมคราบจุลินทรีย์มีผลต่อค่าเฉลี่ยคะแนนดัชนีพีเอชพีที่ลดลงทั้งปาก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) สรุป การมองเห็นการติดสีของสารย้อมคราบจุลินทรีย์โดยไม่สอนวิธีการแปรงฟัน ทำให้ เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 สามารถแปรงฟันลดคราบจุลินทรีย์ได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ