Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์สามประการ ประการแรกเพื่อศึกษากระบวนการถ่ายทอดตัวบทจากนวนิยายจีน เจีย (家)สู่ฉบับแปลภาษาไทย บ้าน ในด้านโครงสร้างทางภาษาทั้งระดับคำและระดับประโยค ประการที่สองเพื่อศึกษาเปรียบเทียบการถ่ายทอดความหมายผ่านกลวิธีทางภาษาระหว่างภาษาต้นฉบับกับภาษาปลายทาง ประการที่สามวิเคราะห์สาเหตุของการถ่ายทอดตัวบทที่เหมือนและต่างจากต้นฉบับ ผลการวิจัยพบว่า ประการแรก การถ่ายทอดตัวบทมีการเพิ่มเติม ตัดทอน ปรับคำหรือข้อความและการถ่ายทอดตัวบทที่ตรงตามอักษร นอกจากนี้ยังพบวิธีการถ่ายทอดตัวบทในประเภทชนิดของคำ เช่น (1) คำบุรุษสรรพนาม ที่ถ่ายทอดออกมาโดยให้ความสำคัญกับความสมจริงของเหตุการณ์มากกว่า (2) คำวิสามานยนามหรือชื่อเฉพาะ ที่ใช้การทับศัพท์โดยใช้อักขรวิธีไทยหรือการปรับเป็นคำใหม่ (3) คำวิเศษณ์ ซึ่งผู้วิจัยพบว่าจุดบกพร่องส่วนใหญ่มาจากความกำกวมของคำวิเศษณ์นั้นในภาษาจีน นอกจากนี้ยังพบการถ่ายทอดตัวบทในรูปแบบอื่นๆอีก เช่น การถ่ายทอดสำนวนจีน ที่มีการถ่ายทอดความหมายโดยใช้สำนวนไทย การปรับข้อความใหม่ในฉบับแปลโดยให้สอดคล้องกับสำนวนจีนเดิม และการถ่ายทอดประโยคที่มีเครื่องหมายวรรคตอน ซึ่งพบว่าต้นฉบับภาษาจีนให้ความสำคัญกับบริบทและสถานการณ์จริงมากกว่าภาษาไทย ประการที่สอง กลวิธีทางภาษาที่โดดเด่นมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น อุปมา อุปลักษณ์ บุคลาธิษฐาน สัญลักษณ์ สัทพจน์และอติพจน์ ซึ่งสามารถอธิบายตามความหมายและโครงสร้างภาษาจีน หรือการปรับเปลี่ยนคำหรือโครงสร้างใหม่โดยให้สอดคล้องกับภาษาไทย ประการที่สาม ภูมิหลังทางสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละชาติแต่ละภาษามีอิทธิพลต่อการถ่ายทอดความหมาย หรือที่เรียกว่า “เอกลักษณ์” ทางภาษา