Abstract:
การศึกษาวิธีการเพื่อคัดเลือกแบคทีเรียที่สร้างกรดแลคติกซึ่งมีศักยภาพใช้เป็นโปรไบโอติกในสัตว์ ได้ ดำเนินการโดยแยกแบคทีเรียกลุ่มที่สร้างกรดแลคติก (Lactic Acid Bacteria) จากตัวอย่างไก่พื้นเมือง มูลสัตว์ ปลาน้ำ จืด อาหารหมักดอง และผลิตภัณฑ์โปรไบโอติคจากต่างประเทศ จำนวน 30, 25, 15, 9 และ 1 ตัวอย่างตามลำดับ รวมทั้งหมด 80 ตัวอย่าง ทำการแยกเชื้อตามวิธีมาตรฐาน (ISO-15214) ได้แบคทีเรียกรดแลคติกทั้งสิ้น 216 ไอโซเลท (isolates) จากตัวอย่าง สามารถจำแนกกลุ่มตามรูปร่างเป็นแท่ง ทรงกลมเรียงตัวเป็นสายโซ่ และทรงกลมเรียงเป็นสี่เซลล์ จำนวน 121, 63 และ 32 ไอโซเลท ตามลำดับ จากผลิตภัณฑ์โปรไบโอติกแยกแบคทีเรียกรดแลคติคได้ 3 ไอโซเลท มีลักษณะรูปแท่ง 2 ไอโซเลท และทรงกลม 1 ไอโซเลท ทำการสุ่มเลือกแบคทีเรียกรดแลคติคที่เพาะได้ จำนวน 50 ไอโซเลท และจากผลิตภัณฑ์โปรไบโอติกอีก 3 ไอโซเลท รวมทั้งสิ้น 53 ไอโซเลท นำไปศึกษาเพื่อทดสอบคุณสมบัติ เบื้องต้นที่จะนำไปใช้เป็นโปรไบโอติก ได้แก่ การศึกษาความไวต่อยาปฏิชีวนะ และเคมีบำบัด การทนกรด การทนน้ำดี และคุณสมบัติในการสร้างสารต้านจุลชีพ ผลการศึกษาสามารถคัดเลือกได้แบคทีเรียกรดแลคติกทั้งหมด 6 ไอโซเลท ได้แก่ C43-1, C72-1, F23-1, C70-2, C76-1 และ C80-2 ดำเนินการศึกษาในขั้นตอนต่อไป โดยเปรียบเทียบกับ ไอโซเลท Fr-A, Fr-B และ Fr-C ที่เพาะแยกได้จากผลิตภัณฑ์โปรไบโอติก พบว่า ทุกไอโซเลทมีความต้านทานต่อยา ปฏิชีวนะและเคมีบำบัดหลายชนิดที่ทดสอบ เช่น aztreonam, streptomycin, colistin, tetracycline, nalidixic acid และ vancomycin สามารถทนต่อกรดที่ pH 2.5 ทนน้ำดีที่ความเข้มข้น 4 เปอร์เซ็นต์ และทุกไอโซเลทที่ทดสอบสามารถ สร้างสารยับยั้งแบคทีเรียทดสอบ E. coli ATCC 25922, Listeria innocua DMST 9011, Listeria monocytogenes DMST 17303, Salmonella Typhimurium ATCC 13311, Salmonella Cholerasuis ATCC 10708, Bacillus cereus ATCC 11778 และ Pseudomonas aeruginosa ATCC 27853 แต่ไม่สร้างสารแบคเทอริโอซิน ผลจาก การศึกษาความคล้ายคลึงโดยการวิเคราะห์ทางฟีโนไทป์ร่วมกับการวิเคราะห์ลำดับเบสของ 16S rDNA พบว่าแบคทีเรีย กลุ่มที่มีรูปร่างเป็นแท่ง ไอโซเลท C43-1, C72-1, F23-1, Fr-A และ Fr-B คล้ายคลึงกับ Lactobacillus salivarius, L. plantarum, L. plantarum, L. casei และ L. plantarum ตามลำดับ แบคทีเรียที่มีรูปร่างทรงกลม ไอโซเลท C70-2, C76-1 และ Fr-C มีความใกล้เคียงกันกับเชื้อมาตรฐาน Enterococcus faecium, E. hirae และ E. faecium ตามลำดับ ส่วน C80-2 ใกล้เคียงกับ Pediococcus pentosaceus จากการศึกษานี้ พบว่า สามารถใช้วิธีข้างต้น ในการ คัดเลือกแบคทีเรียที่สร้างกรดแลคติกที่มีคุณสมบัติใช้เป็นโปรไบโอติกในสัตว์ได้เป็นผลสำเร็จ โดยสามารถคัดเลือก แบคทีเรียกรดแลคติก 4 ไอโซเลท ได้แก่ L. plantarum C72-1, L. plantarum F23-1, E. faecium C70-2 และ P. pentosaceus C80-2 ซึ่งมีคุณสมบัติในห้องปฏิบัติการใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ