Abstract:
จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว นอกจากหลักฐานแผ่นดินไหวในอดีตแล้ว จังหวัดเชียงรายยังตั้งอยู่ใกล้กับรอยเลื่อนมีพลังทั้งในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง นอกจากนั้นแล้วอำเภอเมืองจังหวัดเชียงรายอยู่บนดินตะกอนที่ยังไม่แข็งตัว ซึ่งตะกอนที่เกิดจากการสะสมตัวจากตะกอนแม่น้ำกก ซึ่งชั้นดินตะกอนเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหากับฐานรากอาคารหรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ได้เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น โดยเฉพาะคุณสมบัติการขยายแรงแผ่นดิน ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวสามารถจะประเมินได้จากค่าความเร็วคลื่นเฉือนของดิน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วดินอ่อนจะค่าความเร็วคลื่นเฉือนต่ำและมักจะมีความสามารถในการขยายแรงแผ่นดินไหวได้มากกว่าดินแข็ง ในงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการทำแผนที่ความเร็วคลื่นเฉือนของดินในบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และแผนที่ชนิดของดินตามข้อกำหนดของหน่วยงาน NEHRP โดยที่ความเร็วคลื่นเฉือนของดินนั้นจะใช้วิธีการวิเคราะห์จากคลื่นพื้นผิวหรือที่เรียกว่าวิธี MASW ในงานวิจัยนี้ได้ทำการเก็บข้อมูล MASW จำนวน 30 จุด ครอบคลุม กลุ่มดินทั้งหมด 5 กลุ่ม ที่พบในพื้นที่ศึกษา จากข้อมูลความเร็วคลื่นเฉือนที่ได้จากวิธี MASW ได้นำมาหาค่าเฉลี่ยที่ระดับความลึก 0 ถึง 30 เมตร และนำมาแบ่งชนิดตามข้อกำหนดของ NEHRP จากผลการสำรวจสามารถจัดจำแนกดินออกได้ 2 ชนิดคือ ดินชนิด C ที่มีความเร็วคลื่นเฉือนเฉลี่ย Vs(₃₀) เท่ากับ 418 m/s และดินชนิด D ที่มีความเร็วคลื่นเฉือนเฉลี่ย Vs(₃₀) เท่ากับ 338 m/s และพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอเมืองนั้นประกอบไปด้วยดินชนิด D เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงมีโอกาสก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งก่อสร้างที่อยู่บนดินชนิดนี้ได้หากเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณใกล้เคียง