Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเติมไคโตโอลิโกแซคคาไรด์ใน 3 ระดับความเข้มข้น เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมรวมทั้งกลุ่มที่เติมยาปฏิชีวนะลงในอาหาร ต่อสมรรถนะการเจริญเติบโตในลูกสุกรช่วงหลังหย่านม โดยศึกษาตัวชี้วัด ได้แก่ ค่าทางโลหิตวิทยา ค่ายูเรียไนโตรเจนและโปรตีนรวมในพลาสม่า เปอร์เซ็นต์การย่อยได้ของโภชนะที่ลำไส้เล็กส่วนปลาย ปริมาณการแสดงออกของยีนตัวขนส่งเปปไทด์ 1 การเปลี่ยนแปลงด้านสัณฐานวิทยาและดัชนีการงอกขยายของเซลล์ลำไส้เล็กในสุกรช่วงหลังหย่านม ใช้ลูกสุกร 3 สายพันธุ์เพศเมีย อายุ 21 วัน จำนวน 71 ตัว โดย 3 ตัวแรกถูกการุณยฆาตก่อนเริ่มการทดลอง เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้น ลูกสุกรที่เหลือแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 14 14 13 14 และ 13 ตัว ตามลำดับ เลี้ยงแบบขังเดี่ยว วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ เลี้ยงในโรงเรือนเปิดเป็นระยะเวลา 56 วัน อาหารกลุ่มทดลองที่ 1 ได้แก่ อาหารพื้นฐานเติมกรดอะซิติกเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ สำหรับกลุ่มทดลองที่ 2 ถึง 4 เป็นอาหารพื้นฐานเติมไคโตโอลิโกแซคคาไรด์ปริมาณ 75 150 และ 225 มก./กก.อาหาร ตามลำดับ ส่วนกลุ่มทดลองที่ 5 เป็นอาหารเช่นเดียวกับกลุ่มทดลองที่ 1และเติมยาปฏิชีวนะลินโคมัยซินปริมาณ 110 มก./กก.อาหาร ผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่มีการเติมไคโตโอลิโกแซคคาไรด์ที่ระดับความเข้มข้น 150 มก./กก. ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นและอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อวันมากกว่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อวันในช่วงวันที่ 29 - 56 ของการทดลองมากกว่ากลุ่มควบคุมและเทียบเท่ากับกลุ่มที่มีการเติมยาปฏิชีวนะ เมื่อพิจารณาตลอดระยะการทดลองในช่วงวันที่ 1 - 56 ของการทดลอง พบว่ากลุ่มทดลองดังกล่าวนี้มีแนวโน้มอัตราการเปลี่ยนอาหารดีกว่ากลุ่มควบคุม (p=0.06) ในขณะที่ปริมาณการกินได้ต่อวันไม่แตกต่างกันในทุกกลุ่มการทดลอง รวมทั้งไม่พบความแตกต่างของค่าทางโลหิตวิทยา ค่ายูเรียไนโตรเจน ค่าโปรตีนรวมในพลาสม่า และค่าความเป็นกรด - ด่างในกระเพาะอาหาร (p>0.05) ความน่าสนใจของผลการเติมไคโตโอลิโกแซคคาไรด์ปริมาณ 150 มก./กก.ในอาหาร ส่งผลให้การย่อยได้ของ พลังงาน โปรตีน ไขมัน เถ้า แคลเซียมและฟอสฟอรัสดีกว่ากลุ่มควบคุม และดีกว่าหรือเทียบเท่ากับกลุ่มที่มีการเติมยาปฏิชีวนะทั้งในวันที่ 28 และ 56 ของการทดลอง รวมทั้งส่งผลให้ค่าสัดส่วนความสูงของวิลไลต่อความลึกของคริปท์เซลล์ลำไส้เล็กทั้ง 3 ส่วนมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมากกว่าหรือเทียบเท่ากับกลุ่มที่มีการเติมยาปฏิชีวนะในวันที่ 28 ของการทดลอง รวมทั้งเห็นผลเช่นเดียวกันที่ลำไส้ส่วนเจจูนัมเท่านั้นในวันที่ 56 ของการทดลอง ส่วนผลต่อปริมาณการแสดงออกของยีนตัวขนส่งเปปไทด์ 1 เมื่อคิดเป็นจำนวนเท่าของการเปลี่ยน โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (เท่ากับ 1) พบว่าส่วนเจจูนัมลดลงเท่ากับ 0.29 ส่วนไอเลี่ยมเพิ่มขึ้นเท่ากับ 1.58 ในวันที่ 28 ของการทดลอง ส่วนเมื่อครบระยะการทดลองในวันที่ 56 พบว่าส่วนดูโอดีนัมและไอเลี่ยมลดลงเท่ากับ 0.69 และ 0.31 ตามลำดับ แต่ส่วนเจจูนัมเพิ่มขึ้นเท่ากับ 2.86 สำหรับผลต่อค่าเปอร์เซ็นต์ดัชนีงอกขยายที่เซลล์ลำไส้เล็กด้วยตัวชี้วัดโปรตีน Ki-67 ส่วนเจจูนัมมีค่าสูงกว่ากลุ่มควบคุมและกลุ่มเติมไคโตโอลิโกแซคคาไรด์ปริมาณ 75 มก./กก. แต่เทียบเท่ากลุ่มที่การเติมยาปฏิชีวนะและกลุ่มเติมไคโตโอลิโกแซคคาไรด์ปริมาณ 225 มก./กก.อาหาร ทั้งในวันที่ 28 และ 56 ของการทดลอง สรุปผลการทดลองในครั้งนี้ พบว่าการเติมไคโตโอลิโกแซคคาไรด์ปริมาณ 150 มก./กก.อาหาร สามารถถูกนำมาใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะ โดยเกิดประโยชน์จากการเพิ่มสมรรถนะการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นผลมาจากการย่อยได้ของสารอาหารที่สำคัญ ความเหมาะสมทางสรีรวิทยาในด้านปริมาณการแสดงออกของยีนตัวขนส่งเปปไทด์ 1 สัณฐานวิทยาและการงอกขยายที่บริเวณเซลล์ลำไส้เล็กดีกว่ากลุ่มควบคุมและกลุ่มเติมไคโตโอลิโกแซคคาไรด์ปริมาณ 75 และ 225 มก./กก.อาหาร แต่เทียบเท่ากลุ่มที่การเติมยาปฏิชีวนะ โดยไม่เกิดผลเสียต่อสุขภาพเมื่อวัดจากค่าทางโลหิตวิทยาของสุกร