Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาพัฒนาการและลักษณะของอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงการจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2489 ถึง 2521) โดยเน้นศึกษาอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทยที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และการคมนาคม หลังการยุติของสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2489 การค้าและอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทยได้ขยายตัวอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า เนื่องมาจากการบริโภคน้ำมันปิโตรเลียมที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นและได้กลายมาเป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศ ซึ่งมีพื้นฐานสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และแบบแผนทางการคมนาคม ที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมและระบบถนนที่มีรถยนต์เป็นยานพาหนะหลักมากยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและแบบแผนนี้เป็นผลสำคัญมาจากนโยบายและความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาและองค์กรทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศตั้งแต่ทศวรรษ 2490 พัฒนาการของอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมในช่วงเวลาที่ทำการศึกษานี้ สะท้อนให้เห็นทั้งบทบาทของภาครัฐที่พยายามเข้ามามีส่วนร่วมและควบคุมการค้าและอุตสาหกรรมน้ำมัน สัมพันธภาพระหว่างภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมน้ำมันที่มีทั้งความร่วมมือและความไม่ลงรอย และสัมพันธภาพระหว่างกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มทุนที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่โดยตลอด ทั้งนี้วิกฤติการณ์น้ำมันครั้งที่หนึ่ง ในช่วงปี 2516 ถึง 2518 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในวงกว้าง และนำไปสู่ความขัดแย้งด้านราคาจำหน่ายน้ำมันระหว่างบริษัทน้ำมันเอกชนกับรัฐบาล เป็นพื้นฐานสำคัญทำให้เกิดความพยายามในการลดบทบาทภาคเอกชนและกลุ่มทุน และเพิ่มบทบาทภาครัฐในอุตสาหกรรมน้ำมัน จนนำไปสู่การผลักดันแนวคิดการจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติที่ประสบผลสำเร็จเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในปี 2521