Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาวรรณคดีโศกาลัยในสมัยรัตนโกสินทร์ในด้านประวัติความเป็นมาและพัฒนาการ ตลอดจนลักษณะเฉพาะและความสำคัญของวรรณคดีประเภทนี้ ผลการศึกษาวิจัยพบว่า วรรณคดีโศกาลัยเป็นวรรณคดีประเภทใหม่ ซึ่งเริ่มมีปรากฏขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวาระพิเศษ คือ เมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคตหรือพระบรมวงศานุวงศ์สิ้นพระชนม์ ลักษณะเนื้อหาของวรรณคดีโศกาลัยมีการประกอบสร้างจากลักษณะเด่นและขนบวรรณศิลป์ของวรรณคดีไทย 3 ประเภท ได้แก่ วรรณคดีเฉลิมพระเกียรติ คือ การยกย่องสรรเสริญพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง วรรณคดีนิราศคือ การคร่ำครวญความเศร้าโศกเสียใจที่ต้องพลัดพรากจากผู้เป็นที่รัก และวรรณคดีบันทึกซึ่งเป็นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญและพระราชพิธีต่างๆ ทั้งนี้ขนบวรรณคดีทั้ง 3 ประเภท มีการผสมผสานกันในเรื่องอย่างกลมกลืน โดยมีกรอบความคิดสำคัญ คือ การเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ กวีนำขนบวรรณคดีเฉลิม พระเกียรติมาเป็นสาระสำคัญของเรื่อง คือ การแสดงให้เห็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนขนบวรรณคดีนิราศและวรรณคดีบันทึกมีการปรับเปลี่ยนให้มีจุดมุ่งหมายนำไปสู่การเฉลิม พระเกียรติ กล่าวคือ กวีนำวิธีการพรรณนาความโศกเศร้าของวรรณคดีนิราศมาใช้คร่ำครวญแสดงความเสียใจ เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ว่าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาติบ้านเมือง ทรงเป็นที่รักและเคารพศรัทธาของประชาชน นอกจากนี้กวียังนำวิธีการบันทึกเหตุการณ์ของวรรณคดีบันทึกมาแสดงรายละเอียดของพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระราชทานเพลิงพระศพทำให้เห็นความจงรักภักดีของประชาชนต่อพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน