Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งเน้นศึกษาวิเคราะห์การใช้คำเชื่อมบอกความร่วมในภาษาจีนกลางของผู้เรียนชาวไทย โดยศึกษาเปรียบเทียบการใช้คำเชื่อมบอกความร่วมในภาษาจีนกลางกับคำลักษณะเดียวกันในภาษาไทยอย่างเป็นระบบ แล้วจึงอาศัยหลักพื้นฐานของแนวคิดทฤษฎีการวิเคราะห์เปรียบต่าง (Contrastive Analysis) ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อผิดพลาด (Error Analysis) และอันตรภาษา (Interlanguage) ในการออกแบบแบบสอบถามเกี่ยวกับการใช้คำเชื่อมบอกความร่วมในภาษาจีนกลางของผู้เรียนชาวไทย จากนั้นจึงนำวิธีการทางสถิติต่างๆ ที่ใช้การวิเคราะห์เชิงพรรณนา การวิเคราะห์ความแปรปรวน ฯลฯ วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวมมาเพื่ออภิปรายถึงลักษณะและสาเหตุแห่งข้อผิดพลาดในการใช้คำเชื่อมเหล่านั้น ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ลักษณะข้อผิดพลาดในการใช้คำเชื่อมบอกความร่วมในภาษาจีนกลางของผู้เรียนชาวไทยประกอบด้วย 1) การไม่ได้ใช้คำเชื่อมบอกความร่วมในตำแหน่งที่จำเป็น ต้องมี 2) การใช้คำเชื่อมบอกความร่วมในตำแหน่งที่ไม่จำเป็นต้องมี 3) การใช้คำเชื่อมบอกความร่วมผิดคำ 4) การใช้คำเชื่อมบอกความร่วมผิดตำแหน่ง 5) การใช้คำเชื่อมบอกความร่วมผิดบริบทคำที่ปรากฏใช้ร่วมกัน ซึ่งสาเหตุข้อผิดพลาดดังกล่าวเกิดจาก 1) การถ่ายโอนเชิงลบจากภาษาแม่(母语负迁移 “negative transfer of native language”)2) การถ่ายโอนเชิงลบจากภาษาเป้าหมาย(目的语负迁移 “negative transfer of target language”) 3) กลยุทธ์ในการเรียนรู้ภาษาที่สอง 4) ลักษณะของสื่อการสอน วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาข้อผิดพลาดในการใช้คำเชื่อมบอกความร่วมในภาษาจีนกลางของผู้เรียนชาวไทย 3 ประการได้แก่การให้ความสำคัญกับการศึกษาเปรียบเทียบคำเชื่อมบอกความร่วมในภาษาจีนกลางกับภาษาไทย การคาดคะเนไวยากรณ์ของคำเชื่อมบอกความร่วมในภาษาจีนกลางบางประเด็นที่เข้าใจยาก และการปรับเนื้อหาและรูปแบบการใช้สื่อการสอน